A His-story of SEA: Over the SEA and Far Away

เส้นทางเดินเรือของชาว Austronesian จากเอเชียอาคเนย์สู่ Oceania ผ่านตำนาน Edai Siabo และวัฒนธรรม Lapita ที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก





หลายคนคงเคยดูหนังเรื่อง Kon-Tiki เวอร์ชัน 2012 กันมาบ้าง เป็นหนังสร้างจากเรื่องจริงอิงชีวประวัติของ Thor Heyerdahl นักชาติพันธุ์วิทยาชาวนอร์เวย์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1914-2002 เขาโด่งดังจากการเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทางกว่า 8,000 กิโลเมตร จากอเมริกาใต้ถึงหมู่เกาะ Tuamotu (ปัจจุบันอยู่ใน French Polynesia) ด้วยแพที่สร้างจากวัสดุและวิธีดั้งเดิมในวัฒนธรรม Polynesian (branch หนึ่งของ Austronesian)

ในช่วงทศวรรษ 1930s-1940s นักมานุษยวิทยากระแสหลักสันนิษฐานกันว่า ชาว Polynesian อพยพจากเอเชียและกระจายตัวไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ จากตะวันตกไปยังตะวันออก เหมือนที่เรารับรู้กันทุกวันนี้ แต่ยังขาดหลักฐานสนับสนุน ในขณะที่ Thor มีสมมติฐานต่างออกไป จากการศึกษาตำนานของชนพื้นเมืองในเปรูและเกาะอีสเตอร์ รวมทั้งแหล่งกำเนิดพันธุ์พืชบางชนิด เช่น สับปะรด ทำให้เขาเชื่อว่า ชาว Polynesian น่าจะมาจากอเมริกาใต้มากกว่า

สมมติฐานนี้นำไปสู่การเดินทางอันบ้าบิ่นด้วยแพ Kon-Tiki (ตั้งชื่อตามเทพเจ้าในตำนานอินคา) ของเขาและชาวคณะอีก 5 คน ได้แก่ Erik Hesselberg, Bengt Danielsson, Knut Haugland, Tortein Raaby และ Herman Wetzinger เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว แต่แล้วในวันที่ 7 สิงหาคม 1947 การเดินทางก็จบลง เมื่อแพของพวกเขาแตกบริเวณแนวปะการังใกล้หมู่เกาะ Tuamotu รวมเป็นระยะเวลา 101 วันในทะเล ตลอดการเดินทาง Thor และชาวคณะได้ถ่ายทำสารคดีไว้ด้วย และเผยแพร่ในปี 1950 สารคดีเรื่องนี้ได้รางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมในปีต่อมาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเดินทางของ Thor และชาวคณะเพียงพิสูจน์ว่า ชาว Polynesian สามารถเดินทางจากอเมริกาใต้มายัง Polynesia ได้เท่านั้น ไม่ได้หักล้างทฤษฎีเดิมที่ว่า ชาว Polynesia อพยพมาจากเอเชียแต่อย่างใด ซึ่งการเดินทางไปมาระหว่างหมู่เกาะในอินโด-แปซิฟิกกับภาคพื้นทวีป ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย หรืออเมริกา ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

และเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมา เราก็รู้จักการทดสอบ DNA รวมทั้งการศึกษา linguistic relations จนเป็นที่ค่อนข้างประจักษ์ชัดว่า ชาว Polynesian สืบเชื้อสายมาจาก Austronesian และอพยพมาจาก Maritime Southeast Asia อย่างไรก็ตาม การเดินทางของ Thor เป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในยุคหลัง จนพบความเชื่อมโยงระหว่าง Polynesia กับอเมริกาก่อนยุคอาณานิคมมากขึ้น

บทที่แล้วเราพูดถึงการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ Austronesian จากไต้หวันมายัง Maritime Southeast Asia และ Oceania กันไปบ้างแล้ว แน่นอนว่ากระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นรวดเดียวจบ การอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรเกิดขึ้นหลายระลอกในช่วง 2,200 BCE – 1,200 CE และหมู่เกาะบางแห่งก็ไม่ได้รกร้างว่างเปล่าเสียทีเดียว มีชนพื้นเมืองผิวดำ เช่น Filipino Negrito, Papuans, Melanesian หรือแม้แต่กลุ่ม Austroasiatic ในบอร์เนียว ชะวา และสุมาตรา อาศัยอยู่มาก่อนตั้งแต่ยุค Paleolithic ถึง Neolithic ตอนต้น ชาว Austronesian นำวัฒนธรรมและเทคโนโลยีบางอย่างเข้ามาแลกเปลี่ยนกับชนพื้นเมืองและอยู่ร่วมกัน จนเกิดการ admixture และแตกออกเป็นหลายสาขา

Cultural traits ที่สำคัญของชาว Austronesian ได้แก่ การสักลวดลายตามตัว การปลูกข้าว การจับปลา เลี้ยงสัตว์ เช่น ควาย หมา หมู ไก่ การสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ รวมทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นพืชพื้นเมืองในเขตเส้นศูนย์สูตร เช่น อ้อย กล้วย มะพร้าว เครื่องเทศ หมาก พลู เผือก มันเทศ ฯลฯ มีตำนานและนิทานพื้นบ้านหลายเรื่องเล่าถึงที่มาของพืชเหล่านี้ เช่น ตำนาน Hainuwele สาวมะพร้าวห้าว แห่งหมู่เกาะ Maluku (โมลุกกะ) หรือ ต้นหมากทองคำในตำนาน Aponibolinayen ของชาว Itneg บนเกาะลูซอน ซึ่งผมจะขอเล่าแยกไว้ใน Series A Side Story of SEA ต่อไป


หลายคนที่ชอบดูกีฬา คงสังเกตว่าประเทศใน Oceania เช่น นิวซีแลนด์ ตองกา ตาฮิติ ฯลฯ ส่วนมากจะโดดเด่นในกีฬารักบี้ ที่ต้องมีร่างกายบึกบึนแข็งแรง ชาว Polynesian เขากินอะไรกัน ทำไมถึงตัวพองขนาดนั้น ก็กินอาหารเหล่านี้เป็นหลักครับ ซึ่งส่งผลทางพันธุกรรมด้วย

Cultural traits ที่สำคัญที่สุดที่เราจะโฟกัสในบทนี้คือ การเดินเรือ ซึ่งนอกจากทำให้เกิดการอพยพทางทะเล ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง trade network ระหว่างภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะอีกด้วย เรือของชาว Austronesian ที่มีลักษณะโดดเด่น ได้แก่ outrigger boat เป็นแพหรือเรือขุด (canoe หรือ lashed-lug) ที่มีทุ่นยาวยื่นออกมาเชื่อมกับกาบเรือด้านข้าง มีทั้งแบบข้างเดียวและสองข้าง ช่วยในการทรงตัวไม่ให้เรือโคลงเวลากระทบกับคลื่น มีมากมายหลายประเภทตามการเรียกขานของแต่ละกลุ่ม


Navigation system ชาว Austronesian ส่วนมากมาจากการสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงดาว นอกจากนี้ยังมาจากการสังเกตกระแสลม คลื่น ก้อนเมฆ และสีของท้องฟ้า รวมทั้งการจดจำเส้นทางอพยพของนกตามชายฝั่ง ซึ่งมีความแม่นยำไม่แพ้เทคโนโลยีการเดินเรือในปัจจุบัน


การเดินเรือเลียบชายฝั่งตอนเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ New Guinea รวมถึงหมู่เกาะ Melanesia ของชาว Austronesian ในช่วง 1,600 – 500 BCE ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามเผ่าและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชาว Papuans และ Melanesians* ก่อกำเนิดวัฒนธรรมยุค Neolithic ที่สำคัญขึ้นมาเรียกว่า Lapita culture ซึ่งมี type site อยู่บนเกาะ New Caledonia ค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวอเมริกัน Edward Winslow Gifford และ Richard Shulter Jr. ในปี 1952

*ที่จริงแล้ว ชาว Papuans, Melanesians และ Australian Aborigines ก็คือกลุ่มคนร่วมบรรพบุรุษเดียวกันจาก Homo sapiens ที่อพยพมาราว 60,000-40,000 ปีก่อน ซึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เราเรียกคนกลุ่มนี้โดยรวมว่า Australo-Melanesian หรือ Australoid แต่ในปัจจุบันเพื่อหลีกเลี่ยงข้อหา racism by wokist จึงมีการ distinct ชาว Papuans ออกจาก Melanesians และเรียก Australian Aborigines เสียใหม่ว่า Indigenous Australian peoples

วัฒนธรรม Lapita กระจายอยู่ตามชายฝั่ง New Guinea หมู่เกาะ Bismarck หมู่เกาะ Mariana ใน Micronesia และหมู่เกาะใน Melanesia มีจุดเชื่อมโยงสำคัญคือ รูปแบบของเครื่องปั้นดินเผา ร่องรอยการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช เครื่องมือขวานหิน และเปลือกหอย ซึ่งมีส่วนผสมของ Austronesian cultural traits ดังที่กล่าวไว้เบื้องต้น

ปัจจุบันเกาะ New Guinea ถูกแบ่งครึ่งเป็นสองส่วน ฝั่งตะวันตกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียเรียกว่า West Papua ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากเจ้าอาณานิคมดัตช์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนฝั่งตะวันออกคือประเทศ Papua New Guinea เดิมเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (ฝั่งใต้) และเยอรมัน (ฝั่งเหนือ) เพิ่งได้รับเอกราชในปี 1975 บนเกาะมีแหล่งโบราณคดียุค Neolithic ที่ Kuk Swamp ในที่ราบสูงตอนกลางค่อนไปทางตะวันออกของเกาะ อายุ 9,000 ปีลงมา ก่อนหน้าวัฒนธรรม Lapita พบร่องรอยการปลูกพืช เช่น เผือก กล้วย อ้อย แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองก่อน make contact กับชาว Austronesian วัตถุโบราณชิ้นสำคัญที่พบในบริเวณใกล้เคียงคือจังหวัด Enga ได้แก่ Ambum Stone หินแกะสลักรูปสัตว์คล้ายชะมด อายุราว 1,500 BCE ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าเป็นศิลปะในวัฒนธรรมใด (ซึ่งอาจไม่ใช่ Lapita)

กลุ่มชาติพันธุ์ Papuans ในปัจจุบันแบ่งเป็นหลายกลุ่ม และมีภาษาพูดที่มากมายหลากหลายถึง 1,083 ภาษา ในจำนวนนี้ บางภาษาจัดอยู่ในตระกูล Austronesian เพราะได้รับอิทธิพลมา ส่วนที่เหลือจัดอยู่ในตระกูลภาษา Papuan ชาว Motu ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณ Port Morseby เมืองหลวงของ Papua New Guinea ทางชายฝั่งตอนใต้ของเกาะ เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ Papuans ที่สืบทอดภาษา วัฒนธรรม และเชื้อสาย Austronesian เช่น การสักลวดลายตามร่างกาย การทำเครื่องปั้นดินเผา และการเดินเรือ ซึ่งในทุกปี ชาว Motu จะมีประเพณีล่องเรือไปค้าขายทางตะวันตกในอ่าวปาปัว เรียกว่า Hiri (หิริ ไม่มี โอตตัปปะ)

ไม่แน่ชัดว่าชาว Motu เริ่มมีประเพณีนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ตามตำนานเล่าว่า เรือที่พวกเขาใช้ในการขนส่งสินค้าเรียกว่า Lakatoi นั้น เป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของ cultural hero ในยุคบรรพกาลนามว่า Edai Siabo ซึ่งมีมากมายหลายสำนวน ในที่นี้ผมเรียบเรียงจากบทความ Edai Siabo: An Ethnographic Study of a Papuan Myth โดย Nigel Oram จาก Australian National University ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of the Polynesian Society

สำนวนหนึ่งเล่าว่า เดิมทีบรรพบุรุษของ Edai Siabo อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อ Varai ต่อมาถูกรุกรานโดยชนต่างเผ่า จึงอพยพไปยังเกาะ Yule (เกาะเล็ก ๆ ในอ่าวปาปัว ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ Port Morseby) แล้วสร้างหมู่บ้านแห่งใหม่ที่ Pope และเปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า Motu Ravao

ต่อมาชาว Motu Ravao ถูกรุกรานอีกครั้งโดยชาว Mou หมู่บ้านถูกทำลาย เหลือดรอดเพียงสามี-ภรรยาสองคู่ ซึ่งว่ายน้ำข้ามไปยังชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ พวกเขาสร้างหมู่บ้านแห่งใหม่ที่ปากแม่น้ำ Namao เรียกว่า Namaora และเรียกตัวเองว่าชาว Apau ซึ่งแปลว่า ดำน้ำ มานับแต่นั้น (คือบรรพบุรุษสายหนึ่งของชาว Motu)

ต่อมาชาว Apau ก็ถูกรุกรานอีกครั้งโดยชาว Nara จึงอพยพต่อมาทางตะวันออกเฉียงใต้จนถึงชายหาดเล็ก ๆ ซึ่งมีแหล่งน้ำเพียงพอ จึงสร้างหมู่บ้านแห่งใหม่เรียกว่า Davage (บางสำนวนว่าเป็นหมู่บ้าน Boera อยู่ในละแวกเดียวกัน) ทว่าที่นี่มีพื้นดินที่แห้งแข็ง ในฤดูแล้งชาวบ้านจึงมักอดอยาก ต้องดำรงชีพด้วยการหาปลา และพัฒนาการทำแหขนาดใหญ่เรียกว่า Matagara เพื่อจับพะยูนและเต่าทะเล ชาว Apau ให้กำเนิดลูกหลานต่อมามากมายหลายรุ่น จนถึงยุคของ Edai Siabo

วันหนึ่ง Edai Siabo ล่องเรือแคนูออกไปจับพะยูนด้วยแห Matagara แต่ทว่าทั้งวันยันค่ำก็ไม่ได้สักตัว แม้จะล่องไปไกลถึงเกาะ Bava เขาจึงล่องเรือต่อไปยังเกาะ Idiha เพื่อจับเต่าทะเล แต่ก็ไม่ได้เต่าสักตัวจนถึงรุ่งสาง ด้วยความเหนื่อยล้า เขาจึงทอดสมอที่ทำด้วยหินก้อนใหญ่ลงไปในน้ำ แล้วนอนหลับพักผ่อนบนเรือ

บังเอิญสมอของ Edai Siabo ดันไปตกอยู่หน้าปากถ้ำใต้ทะเลของพรายน้ำ (บางสำนวนว่า ปลาไหล) ซึ่งดึงตัวเขาลงไปยังถ้ำใต้ทะเล แล้วสอนเคล็ดลับการต่อเรือ Lakatoi ซึ่งมีใบลักษณะคล้ายก้ามปู (crab claw sail) เพื่อนำสินค้าไปขายยังชายฝั่งตะวันตก แล้วชีวิตจะพบกับความมั่งคั่ง แต่มีข้อห้ามพอเป็นพิธี เช่น ห้ามหลับนอนกับภรรยาระหว่างต่อเรือ ต้องปล่อยให้นางรออยู่บ้านเป็นแรมเดือน เมื่อค้าขายกลับมา ทั้งคู่จะได้ enjoy sexivity อย่างเต็มที่ (ก็ make sense อยู่) เมื่อสั่งสอนเสร็จแล้ว พรายน้ำก็พาตัว Edai Siabo กลับสู่ผิวน้ำ

ฝ่ายชาวบ้านและลูกชายของเขานามว่า Vagi เห็น Edai หายไปทั้งคืนจึงออกตามหา และพบกันในที่สุด Edai Siabo เล่าเรื่องทั้งหมดให้ชาวบ้านฟัง แต่กลับถูกมู่ลี่ ยี้ ๆ ว้าย ๆ ว่าพูดอะไรไร้สาระ แต่เขาไม่ย่อท้อ ลองผิดลองถูกหลายครั้งจนสร้าง Lakatoi ลำแรกชื่อว่า Bogebada (แปลว่า อินทรีทะเล) ได้สำเร็จ สอนภรรยาให้ปั้นหม้อสำหรับเป็นสินค้าและบรรจุอาหารลงเรือ เขามีน้องสาวคนหนึ่งชื่อ Boio Siabo แต่งงานกับ Bokina Bokina ชายหนุ่มชาว Koita จากหมู่บ้าน Gobina ที่อยู่ใกล้เคียง จึงวานน้องสาวให้ไปขอเสบียงอาหารจากสามีเพื่อใช้ในการเดินเรือ แต่กลับถูกปฏิเสธถึงสามครั้ง

ในที่สุดเมื่อลมตะวันออกเฉียงใต้พัดมาก็ได้เวลา Edai Siabo พร้อมลูกชายและญาติของเขาออกเดินทางไปค้าขาย (Hiri) หลายเดือนผ่านไป ภรรยาของคนอื่น ๆ ต่างคิดว่าสามีของพวกนางได้ล้มหายตายจากไปในทะเลแล้ว บ้างจึงแต่งงานใหม่และตั้งท้องกับชายที่ไม่ได้ออกเรือไปด้วย มีเพียงภรรยาและลูกสะใภ้ของ Edai Siabo ที่ยังรอคอย

จนกระทั่งวันหนึ่ง ทั้งสองปีนต้นไม้บนยอดเขาเพื่อมองหาเรือในทะเลตามกิจวัตร และพบว่า Lakatoi ล่องกลับมาแล้วจริง ๆ Edai Siabo และพรรคพวกนำสินค้าจากต่างแดนกลับมาจนเต็มเรือ สร้างความยินดีปรีดาแก่ครอบครัว แต่สำหรับหญิงที่แต่งงานใหม่กลับไม่ได้อะไรเป็นของฝากจากสามี เพราะพวกนางไม่มีศรัทธาและความอดทนมากพอ

ฝ่าย Bokina Bokina น้องเขยของ Edai Siabo ได้ยินว่าเขาล่องเรือกลับมาพร้อมความมั่งคั่ง จึงสั่ง Boio Siabo ให้ไปขอเสบียงอาหารจากพี่ชาย แต่นางกลับถูกปฏิเสธถึงสามครั้ง เช่นเดียวกับที่ Bokina Bokina เคยปฏิเสธ Edai Siabo แต่แล้วในครั้งที่สี่ Edai ก็ยอมแบ่งปันสินค้า เช่น หมาก พลู สาคู แลกกับกล้วยและหมูของ Bokina Bokina การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชาว Motu และ Koita จึงกลายเป็นประเพณีเรียกว่า Abilakwa สืบมานับแต่นั้น

ตำนานย่อมไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่ก็มีเค้าความบอกเล่าที่มาของไอเดียในการสร้างเรือ Lakatoi ของชาว Motu ในที่นี้ พรายน้ำคงเป็นตัวแทนของชาว Austronesian ที่ผูกมิตรกับชนพื้นเมืองแล้วสอนเทคนิคการเดินเรือให้นั่นเอง ในภาพประกอบคือ Edai Siabo มีเรือ Lakatoi อยู่ด้านหลัง

Comments