A His-story of SEA: Sacred Stones

สำรวจแท่งหินศักดิ์สิทธิ์และรากเหง้าของ megalithic culture ในเอเชียอาคเนย์ ผ่านตำนานของชาว Munda และทฤษฎีแหล่งกำเนิดภาษา Austroasiatic



ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยาย sci-fi ชื่อดัง คงจำกันได้ว่า ในตอนต้นเรื่อง หนังเล่าถึงยุคแรกเริ่มของมนุษยชาติ โดยมี ape กลุ่มหนึ่ง (น่าจะเป็น Australopithecus) อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ คุ้ยเขี่ยหากินเมล็ดพืชไปวัน ๆ ตามยถากรรม ต้องเผชิญกับภัยอันตรายต่าง ๆ เช่น ถูกสัตว์นักล่ากินเป็นอาหาร ถูกกลุ่มที่แข็งแรงกว่าไล่ที่ จนต้องไปหลบอาศัยอยู่ในถ้ำ

 

จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง มีแท่งหินประหลาด (monolith) ทรงสี่เหลี่ยมเหมือนบานประตูสีดำปรากฏขึ้นหน้าถ้ำ ไม่มีใครรู้ว่ามันมาจากไหนและใครเป็นผู้สร้าง ape กลุ่มนี้พากันสัมผัสลูบคลำแท่งหินด้วยความฉงน และแล้วความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็บังเกิด เมื่อ ape ผู้หนึ่ง (สมมติว่าชื่อ สมชาย) มีไอเดียบรรเจิดขึ้นมา เรียนรู้ว่ากระดูกสัตว์นั้นสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธได้ สมชายจึงเริ่มล่าสัตว์มากินเป็นอาหารจนร่างกายแข็งแรง และไปท้าสู้กับหัวหน้า ape อีกกลุ่ม แย่งแหล่งน้ำคืนมาได้ จะเห็นได้ว่า สิ่งแรกที่มนุษย์เรียนรู้คือ ความรุนแรง เหมือนเด็กทารกที่เริ่มมีพัฒนาการ คว้าอะไรได้ก็จะทุบแล้วเอาเข้าปาก

 

Arthur C. Clarke นักเขียนผู้แต่งเรื่องนี้คงตั้งใจจะบอกเราว่า แท่งหินประหลาดนี้มีพลังลึกลับบางอย่างซึ่งมอบสติปัญญาแก่บรรดา ape และนี่คือความลับของวิวัฒนาการมนุษย์ ตามความเชื่อในทฤษฎี ancient astronauts แต่ก็ตามที่บอกไว้ในบทก่อน ๆ โดยส่วนตัวผู้เขียนไม่คิดว่าวิวัฒนาการของมนุษย์ก้าวกระโดดแต่อย่างใด การเรียนรู้สิ่งหนึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังอีกสิ่งหนึ่งได้ในระยะเวลาอันสั้น ไม่ใช่เรื่องยากหรือเกินจริง

 

กระดูกและหินเป็นเครื่องมือรุ่นแรก ๆ ที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้งาน เพื่อให้การศึกษาโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์มีระบบระเบียบและเข้าใจง่ายขึ้น ในปี 1816 Christian Jurgensen Thomsen ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเดนมาร์กได้แบ่งหมวดหมู่ของโบราณวัตถุที่จัดแสดงออกเป็น 3 ยุคได้แก่ ยุคหิน (Stone Age) ยุคสำริด (Bronze Age) และยุคเหล็ก (Iron Age) กลายเป็นที่มาของระบบ 3 ยุค (Three-age System) ซึ่งผู้ศึกษาโบราณคดีทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ยุคหินยังแบ่งย่อยได้อีก 3 ยุค ได้แก่ ยุคหินเก่า (Palaeolithic, ราว 3.3 ล้าน-12,000 ปีก่อน) ยุคหินกลาง (Mesolithic, ราว 20,000-10,000 ปีก่อน) และยุคหินใหม่ (Neolithic, ราว 10,000-4,500 ก่อน) การกำหนดอายุในแต่ละพื้นที่อาจเหลื่อมล้ำกันบ้างเป็นธรรมดา

 

แท่งหินขนาดใหญ่ (megalith) ซึ่งเป็น inspiration ของ monolith ในหนังเรื่องนี้ เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในแหล่งโบราณคดียุค Neolithic เป็นต้นมา (บางแห่งอาจเก่าไปถึงสมัย Mesolithic) เช่น Gobekli Tepe ในตุรกี, Stonehenge ในอังกฤษ, Nabta Playa ในอียิปต์, ทุ่งไหหินในลาว, Nan Madol บนเกาะ Pohnpei ฯลฯ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ (monument) หรือจุดประสงค์อื่น ๆ ซึ่งเราเรียกว่า Megalithic culture ด้วยการจัดวางอันน่าทึ่งและดูพิศวง จึงไม่แปลกที่จะชวนให้จินตนาการถึงมนุษย์ต่างดาว

 

Megalith มีหลายลักษณะตามการจัดวาง เช่น monolith และ menhir หรือ standing stone เป็นหินแท่งเดียวในแนวตั้ง, capstone หินแท่งเดียววางเป็นแนวนอน มักพบบนหลุมศพ, cromlech หรือ stone circles กลุ่มหินตั้งที่จัดวางเป็นวงกลม, alignments กลุ่มหินตั้งเรียงเป็นแถวหรือรูปก้นหอย, dolmen กลุ่มหินวางเป็นชั้นคล้ายห้อง มีหินแนวนอนชิ้นใหญ่ (capstone) วางอยู่ด้านบน ค้ำด้วยเสาหินแนวตั้ง 2 แท่งขึ้นไป

 

ใน Southeast Asia และบริเวณคาบเกี่ยว พบแหล่งโบราณคดี megalithic culture กระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ทุ่งไหหิน จังหวัดเชียงขวาง ประเทศลาว, ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย, Bada Valley บนเกาะสุลาเวสีตอนกลาง, stone works บนเกาะ Nias ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย, menhir และ dolmen จำนวนมากในรัฐ Jharkhand, Odisha, Meghalaya และอีกมากมาย บางแห่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งยังใช้ในพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มจนถึงปัจจุบัน

 

Megalith ยังมีวิวัฒนาการต่อมาในยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งลดขนาดลงให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น โลงศพหินในอารยธรรมปยู หลักศิลาจารึก และ hero stone หรือ Natukal ของชาวทมิฬ มีลักษณะคล้ายใบเสมาในภาคอีสานของไทย ซึ่งอาจได้รับอิทธพลมาจากวัฒนธรรมอินเดียหลังศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา แต่นักวิชาการส่วนมากเชื่อว่า ใบเสมามีวิวัฒนาการมาจากหินตั้งในวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยตรง

 

ทำไม Megalith ถึงเพิ่งเริ่มปรากฏในยุค Neolithic ราว 10,000 ก่อนเป็นต้นมา มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติทางสังคมและเทคโนโลยีที่เรียกว่า Neolithic Revolution ซึ่งมนุษย์เริ่มรู้จักการเพาะปลูก จึงสามารถตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งและมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความเชื่อเรื่องรหัสยนิยม (mysticism) หรืออำนาจเหนือธรรมชาติจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างอนุสรณ์สถานสำหรับพิธีกรรม เพื่อปกป้องคุ้มครองคนในสังคมให้อยู่ดีมีกิน ไม่อดตาย

 

ในช่วงทศวรรษที่ 1920s Madeleine Colani นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเป็นคนแรกที่เริ่มใช้คำว่า Hòa Bình culture หรือ Hoabinhian จากการขุดพบเครื่องมือหินยุค Mesolithic ประเภท flake และ cobble ในเวียดนามตอนเหนือ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 16,000-10,000 ปีก่อน ต่อมานักโบราณคดีคนอื่น ๆ พบเครื่องมือในลักษณะเดียวกันกระจายตัวอยู่ทั่ว Mainland Southeast Asia เช่น ถ้ำเสี่ยวต้ง บริเวณชายแดนหยุนหนาน-พม่า, ถ้ำผีแมน และ ถ้ำลอด ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน, ถ้ำ Gunung Runtuh และ ถ้ำ Kelawar ในรัฐเประ และอีกหลายแห่งในมาเลเซียและสุมาตรา ทำให้เกิดคำถามว่า Hoabinhian เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใดกันแน่ บ้างสันนิษฐานว่าเป็น Austroasiatic speakers แต่จากการทดสอบ DNA ในฟอสซิลพบว่า มนุษย์ Hoabinhian มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับกลุ่ม Semang และ Andamanese (โดยเฉพาะ Onge และ Jarawa) มากที่สุด

 

เชื่อกันว่า Austroasiatic speakers เป็นประชากรที่เก่าแก่เป็นอันดับสองใน Southeast Asia รองจากกลุ่ม Negritos เพราะ genetic มีส่วนผสมของ Hoabinhian และ East Asian-related ancestry อยู่มาก โดยเฉพาะ Mon, Khmer, Senoi และ Nicobarese ซึ่งมีผิวคล้ำกว่ากลุ่มทางเหนือ เช่น Palaungic, Khmuic และ Vietic โดยน่าจะอพยพมาตั้งแต่ต้นยุค Neolithic และเป็นกลุ่มที่ import megalithic culture มายังภูมิภาคนี้ ก่อนจะแพร่หลายไปยังกลุ่ม Austronesian speakers ในเวลาต่อมา

 

ภาษา Austroasiatic เป็นตระกูลใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษานี้ได้แก่ Munda, Khasi, Palaungic (Wa, Lawa, Te’ang), Khmuic (Mlabri, Lua), Pakanic (Bugan, Bolyu), Viet-Muong, Katuic (Kuy, Bru), Bahnaric (Kasseng, Mnong), Khmer, Pearic (Samre, Chong), Mon, Orang Asli (Semang, Senoi) และ Nicobarese ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ดินแดนต้นกำเนิดภาษา (Urheimat) หรือ homeland ของ Austroasiatic speakers อยู่ที่ไหนกันแน่

 

การศึกษาในยุคแรก ๆ สันนิษฐานกันว่า Austroasiatic น่าจะมาจากอินเดีย เนื่องจากการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ Munda ทางตะวันออกของอินเดีย ได้แก่ รัฐ Jharkhand, Chhattisgarh, Odisha, Bihar, West Bengal และ Madhya Pradesh รวมทั้งบางส่วนในบังคลาเทศ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นชนพื้นเมือง (Adivasi) ก่อนที่ชาว Dravidian และ Indo-Aryan จะอพยพมายังบริเวณนี้

 

Ramaprasad Chanda นักมานุษยวิทยาชาวอินเดียเชื่อว่า นิษาท (Nishada) คนนอกวรรณะ อาศัยอยู่ตามป่า เลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ ที่ถูกกล่าวถึงในตำนานฮินดู ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ Munda นั่นเอง ตัวละครนิษาทจากมหากาพย์มหาภารตะที่รู้จักกันดี ได้แก่ เอกลัพย์ (Ekalavya)

 

คำว่า Munda เป็น exonym ในภาษาสันสกฤต พวกเขาเรียกตัวเองว่า ho หรือ hor แปลว่า คน ในภาษาของตัวเอง กลุ่มชาติพันธุ์ Munda ในปัจจุบันแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ Munda, Ho, Santhal, Bihor, Bhumji, Korwa, Kordaku, Korku, Kharia, Juang, Saba, Sora, Gorum, Gadaba, Bonda และ Didayi เป็นเครือญาติร่วม genetic กับ Dravidian บางกลุ่ม เช่น Khond, Gond, Baiga, Nihali, Musahar และ Saharia

 

กลุ่มชาติพันธุ์ Munda มีความใกล้ชิดกับป่าตามวิถี hunter-gatherers โดยมีศาสนาของตัวเองเรียกว่า Sarnaism หมายถึง ป่าศักดิ์สิทธิ์ นับถือเทพแห่งธรรมชาติ เช่น Singbonga (สุริยะเทพและผู้สร้างสรรพสิ่ง) และ Dharti ayo (พระแม่ธรณี) ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากฮินดูอยู่บ้างเป็นธรรมดา นอกจากนี้ยังมี megalithic sites เป็นจำนวนมาก ชาว Munda เรียก dolmen ว่า Sasandiri และเรียก menhir ว่า Birdiri

 

ต่อมาในช่วงปี 2009-2011 ทฤษฎี Austroasiatic homeland จากอินเดียสู่ Southeast Asia ถูกท้าทายด้วยทฤษฎีใหม่จากการศึกษารากศัพท์ของ Paul Sidwell นักภาษาศาสตร์ โดยกลับกัน เขาเชื่อว่า Austroasiatic speakers ไม่ได้มาจากอินเดีย อยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ โดยมี core area บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ถือกำเนิดราว 5,000 ปีก่อน และแตกออกเป็นหลายกลุ่มประมาณ 4,000 ปีก่อน แต่ทฤษฎีนี้ยังมีช่องโหว่หลายประการ เช่น กรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ Munda และ Nicobarese ซึ่งยังอธิบายสาเหตุของความห่างไกลกับกลุ่มอื่น ๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงไม่ได้

 

ในขณะเดียวกัน นักภาษาศาสตร์คนอื่น ๆ เช่น Ilia Peiros, Georg van Driem และ Laurent Sagart เชื่อว่า Austroasiatic homeland น่าจะอยู่ในจีนตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำหยางจื่อตอนกลาง จังหวัดหูเป่ย-หูหนาน-เจียงซี อ้างอิงจากหลักฐานทางโบราณดีและ genetic research โดยระบุว่า ภาษา Austroasiatic ถือกำเนิดราว 8,000 ก่อน ต่อมาผู้คนได้แตกออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ราว 6,000-4,000 ปีก่อน และอพยพไปยังที่ต่าง ๆ ตามการแพร่กระจายของการปลูกข้าว

 

Sidwell ยังไม่ยอมแพ้ ในปี 2015 เขาเสนอว่ากลุ่ม Munda อาจเดินทางล่องเรือข้ามอ่าวเบงกอลไปยังปากแม่น้ำมหานทีในรัฐโอดิสาราว 4,000-3,500 ปีก่อน และสมรสกับชนพื้นเมืองที่เรียกว่า Indigenous South Asian Hunter-gatherers จนเกิดการ replacement ทางภาษา แต่แล้ว Sidwell ก็ต้องหน้าหงายอีกครั้ง เมื่อการศึกษา genetic research แสดงหลักฐานได้หนักแน่นกว่าการศึกษา lexicon ของเขา (ผู้เขียนก็สงสัยเหมือนกันว่า รู้จักเดินเรือข้ามทะเลแล้วทำไมยังกลับไปใช้ชีวิตในป่า พอเพียงว่างั้น)

 

จากการศึกษา Y-DNA Haplogroup O-M175 ซึ่งพบมากที่สุดในกลุ่ม East Asians และ Southeast Asians ในปัจจุบัน รวมทั้ง Central Asians และ South Asians บางกลุ่ม (ในที่นี้จะเรียกว่า East Asian-related ancestry) สามารถเรียงลำดับ phylogeny ได้คร่าว ๆ ดังนี้

 

O-M175 > O1 (O-F265), O2 (O-M122)

O1 > O-M268 (O1b)

O-M268 > O-K18 (O1b1), O-M176 (O1b2)

 

Haplogroup O-K18 หรือ O1b1 จะพบมากที่สุดในกลุ่ม Austroasiatic speakers และกลุ่มเครือญาติชาติพันธุ์ร่วมบรรพบุรุษทางตอนใต้ของประเทศจีน เช่น Hmong-Mien, Kra-Dai และ Austronesian ในขณะที่ Haplogroup O-M176 หรือ O1b2 พบมากที่สุดในกลุ่ม Japanese (Yayoi people), Korean และ Manchu ซึ่งทั้ง O1b1 และ O1b2 น่าจะมีจุดกำเนิดร่วมกันบริเวณลุ่มแม่น้ำหยางจื่อตอนกลาง ในระยะเวลาใกล้เคียงกันราว 31,000-28,000 ก่อน

 

ในปี 2021 Maximilian Larena และชาวคณะระบุในงานวิจัยว่า Austroasiatic speakers น่าจะแยกจาก East Asian-related ancestry ราว 25,000-15,000 ก่อน และอพยพสู่ Southeast Asia ทั้ง mainland และ maritime ราว 15,000-12,000 ก่อน โดยเข้าไปแทนที่หรือสมรสกับชนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อน (Negritos, Papuans, Melanesian) ก่อนจะถูกแทนที่โดยกลุ่ม Austronesian บริเวณบอร์เนียว สุมาตรา ชะวา บาหลี และปลายคาบสมุทรมลายู ราว 10,000-7,000 ปีก่อน ซึ่งตรงกับข้อสันนิษฐานของ Roger Blench ที่ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ Chamic, Achenese รวมทั้ง Dayak บางกลุ่มเคยพูดภาษา Austroasiatic มาก่อน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Larena เกิดจากการคำนวณทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ยังขาดหลักฐานทางโบราณคดีประกอบ

 

Sidwell ยังคงไม่ยอมแพ้ และในปี 2022 นี่เอง เขามีข้อเสนอใหม่อีกครั้งคือ Austroasiatic homeland อยู่ที่นี่ ที่ลุ่มแม่น้ำแดง (Red River Delta) เมื่อราว 4,500-4,000 ปีก่อน (เอาใจช่วยแล้วกัน)

 

ในภาพประกอบคือ Singbonga สุริยะเทพในตำนานของชาว Munda กับแท่งหิน menhir

Comments