A His-story of SEA: Maiden of Ali Mountain
จากเพลงผู้สาวเขาอาหลี่ สู่เรื่องตำนานชนพื้นเมืองไต้หวัน บรรพบุรุษ Austronesian ว่าด้วยความเชื่อเรื่องงู ไผ่ และความเชื่อมโยงกับตำนานฟิลิปปินส์
高山青 澗水藍
ขุนเขาขจี วารีกระจ่าง
阿里山的姑娘美如水呀
ผู้สาวเขาอาหลี่งามล้ำดุจน้ำใส
阿里山的少年壯如山
ผู้บ่าวเขาอาหลี่แกร่งกล้าดังภูผา
ใครที่ชอบฟังเพลงจีนคงรู้จักท่อนนี้ในเพลง
ผู้สาวเขาอาหลี่ (阿里山的姑娘) เป็นอย่างดี เป็นเพลงพื้นบ้านของไต้หวัน
ชมโฉมหญิงชนพื้นเมืองในหุบเขาอาหลี่ซาน ตอนกลางของเกาะ
รวมทั้งพรรณนาความงามของธรรมชาติในที่แห่งนี้
ชนพื้นเมืองบนเกาะไต้หวัน (Taiwanese Aborigines หรือ Taiwanese indigenous peoples) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ Austronesian อาศัยอยู่บนเกาะมานานหลายพันปี
ก่อนที่ชาวฮั่นจะเริ่มเข้ามาตั้งรกรากเมื่อราวศตวรรษที่ 16-17 ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่สูง (Mountains indigenous peoples) ได้แก่ Amis, Atayal, Bunun, Kavalan,
Paiwan, Rukai, Saisiyat, Thao, Tsou, Yami ฯลฯ และกลุ่มที่ราบ (Plains indigenous peoples) ได้แก่ Babuza, Hoanya, Ketagalan, Papora,
Quaquat, Taivoan ฯลฯ
โดยชื่อ ไต้หวัน หรือ ไถวาน (台灣) ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ สันนิษฐานว่ามาจากชื่อเรียกของชาว Taivoan ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณไถหนาน
ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ เมื่อชาวดัตช์เข้ามาสร้างอาณานิคมในศตวรรษที่ 17 ได้พบชาว Taivoan เป็นกลุ่มแรก
และคงเรียกบริเวณนั้นตามชื่อชนพื้นเมืองจนเพี้ยนเป็น Taiwan ในขณะที่คำว่า Formosa ซึ่งแปลว่า เกาะงาม
เป็นชื่อเรียกโดยชาวโปรตุเกส ซึ่งเดินทางมาถึงเกาะนี้ก่อนหน้าชาวดัตช์
และใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 16
Austronesian speakers เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ ด้วยความเชี่ยวชาญการเดินเรือ
จึงสามารถเดินทางข้ามทะเลไปตั้งถิ่นฐานในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ ไต้หวัน
ชายฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ตอนใต้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรและภาคพื้นทวีปบางส่วน โอเชียเนียและหมู่เกาะแปซิฟิก
ไปจนถึงมาดากัสการ์ กล่าวได้ว่า หากชาว Phoenician เป็นเจ้าแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน Austronesian ก็เป็นเจ้าแห่งมหาสมุทรอินโด-แปซิฟิก
จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า Austronesian homeland อยู่บนเกาะไต้หวัน ก่อนอพยพและกระจายตัวไปยังที่อื่น ๆ ราว 3,000-1,500 BCE เราเรียกกระบวนการนี้ว่า Austronesian Expansion โดยก่อนหน้านั้น บรรพบุรุษของ Austronesian หรือ Proto-Austronesian มาจากจีนแผ่นดินใหญ่บริเวณชายฝั่งตอนใต้
(เจ้อเจียง-ฝูเจี้ยน-กว่างตง) ดังที่กล่าวไว้ในบทที่แล้ว
ในช่วงปลายยุค Pleistocene ราว 30,000-20,000 ปีก่อน
ระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปัจจุบันราว 140 เมตร
ทำให้มีแผ่นดินเชื่อมต่อระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน มนุษย์ยุค Paleolithic รวมทั้งสัตว์ต่าง ๆ
สามารถเดินทางอพยพมาจากที่นี่ได้สะดวก แต่คนกลุ่มนี้ไม่ใช่บรรพบุรุษสายตรงของ Austronesian ซึ่งน่าจะอพยพมาในยุค Neolithic ปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมต้าเปิ้นเคิง
(大坌坑) บริเวณชายฝั่งตะวันตก
และหมู่เกาะเพิงหู (澎湖) อายุราว 3,500 BCE ลงมา พบร่องรอยการเพาะปลูก
เลี้ยงสัตว์ เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือหิน
ช่วงเวลาเดียวกัน
ตรงข้ามเกาะไต้หวัน พบแหล่งโบราณคดียุค Neolithic ในฝูเจี้ยนที่สำคัญ ได้แก่
วัฒนธรรมเขอชิวโถว (殼丘頭) อายุราว 4,050-3,550 BCE วัฒนธรรมถานสือซาน (曇石山) อายุราว 3,050-2,350 BCE ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมต้าเม่าซาน (大帽山) และสุดท้ายคือ
วัฒนธรรมหวงกวาซาน (黃瓜山) อายุราว 2,350-1,550 BCE ผู้คนในวัฒนธรรมเหล่านี้คาดว่าเป็นกลุ่ม
Austronesian
และ Kra-Dai ซึ่งมีการปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมต้าเปิ้นเคิง
ในถ้ำเสี่ยวหม่า ใกล้เมืองไถตง
ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ พบหลุมศพมนุษย์เพศชายอายุราว 4,000 BCE มีลักษณะทางกายภาพคล้าย Negrito ในฟิลิปปินส์
แสดงให้เห็นว่ามีชนพื้นเมืองผิวดำอาศัยอยู่บนเกาะมาก่อนชาว Austronesian เรื่องนี้ยังมีเค้าความปรากฏในนิทานพื้นบ้านของชาว
Saisiyat
เกี่ยวกับคนแคระผิวดำเรียกว่า Ta’ai เจ้าถิ่นเดิมก่อนที่พวกเขาจะมาตั้งรกรากที่นี่
นิทานเล่าว่า ชาว Ta’ai มีผิวดำและรูปร่างเล็กมาก สูงไม่ถึง
1 เมตร ชอบร้องรำทำเพลง
และยังมีเวทมนต์คาถา แรกเริ่มทั้งสองเผ่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ชาว Ta’ai คอยช่วยเหลือชาว Saisiyat ให้รู้จักการดำรงชีพด้วยเครื่องมือต่าง
ๆ แต่ก็มักจะมีพวกหื่นกามเข้ามาข่มเหงหญิงสาว Saisiyat อยู่เป็นระยะ จนกระทั่งชาว Saisiyat เหลืออด จึงตัดสินใจล้างแค้น
วันหนึ่ง ขณะที่ชาว Ta’ai กำลังนอนหลับพักผ่อนบนขอนไม้ใหญ่ที่วางพาดระหว่างหน้าผา
ชาว Saisiyat
ลอบเข้ามาตัดขอนไม้ใหญ่นั้นเป็นสองท่อน
จนชาว Ta’ai
ตกหน้าผาตายกันหมด
ยกเว้นผู้เฒ่าสองคนที่ไม่ได้อยู่บนขอนไม้ด้วย ทั้งสองสาปแช่งชาว Saisiyat ให้ตกนรกอเวจีปอยเปตสี่แสนล้านภพ
ชาว Saisiyat
กลัวคำสาปและอำนาจลี้ลับจึงร้องขอขมา
ผู้เฒ่าทั้งสองใจอ่อน จึงสอนชาว Saisiyat ให้ร้องรำทำเพลง เป็นการบวงสรวงดวงวิญญาณชาว Ta’ai ที่ตายไป
กลายเป็นพิธีกรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเรียกว่า Pas-Ta’ai เรื่องราวของคนแคระผิวดำยังปรากฏในนิทานของชาว
Tsou,
Bunan และ
Paiwan
อีกด้วย
เครื่องดนตรีในการร้องรำทำเพลงของชนพื้นเมืองไต้หวัน
ส่วนมากทำจากไม้ไผ่ ซึ่งพบได้ทั่วไปบนเกาะ เช่น ขลุ่ย percussion และยังใช้สร้างกระท่อมเป็นที่อยู่อาศัย
หลายคนอาจเคยได้ยินว่า ในดงไผ่มักมีงู ความจริงแล้ว
เนื้อไม้ไผ่ไม่ได้มีอะไรน่าดึงดูดสำหรับงู
แต่เป็นรังนกหรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในกอไผ่ ซึ่งเป็นอาหารของมัน
การบูชางูหรือสัตว์เลื้อยคลาน
ปรากฏในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก แต่น้อยครั้งที่จะพบการจำเพาะเจาะจงถึงประเภทของงู
ดังเช่นการนับถือ hundred pacer (ไม่รู้ว่าภาษาไทยเรียกอะไร) ของชาว Paiwan และ Rukai งูชนิดนี้มีพิษร้ายแรง
ชาวพื้นเมืองเชื่อกันว่า หากถูกมันกัดเข้า
จะไม่สามารถมีชีวิตรอดเดินต่อไปได้เกินร้อยก้าว จึงได้ชื่อนี้
ในภาษา Paiwan คำว่า งู คือ qacuvi หรือ sura แต่สำหรับ hundred pacer จะเรียกว่า vorovoron ซึ่งหมายถึง ท่านผู้เฒ่า หรือ sura pulunu แปลว่า วิญญาณ(เทพ)งู
สะท้อนความเชื่อที่ว่า งูชนิดนี้เป็นใหญ่กว่างูทั้งหลาย และเป็นบรรพบุรุษของชาว Paiwan อีกด้วย
ตามตำนานเล่าว่า ในยุคบรรพกาล
สุริยเทพได้ปลูกไผ่กอหนึ่งไว้บนก้อนหิน วันหนึ่งเกิดพายุใหญ่
มีฟ้าผ่าลงมาแยกไม้ไผ่ออกเป็นสองซีก หญิงสาวนามว่า Muakaikai ถือกำเนิดขึ้นมาจากปล้องไผ่นั้น
ในขณะเดียวกัน ก้อนหินก็ถูกฟ้าผ่าจนแตกออกเช่นกัน และ hundred pacer ก็ถือกำเนิดมาจากรอยแตกนั้น Muakaikai เห็นเข้าก็คว้าเอางูเข้าปากในทันที
(คิดว่าของกินมั้ง?) ไม่นานนางก็เริ่มตั้งครรภ์และคลอดลูกเป็นฝาแฝดชาย-หญิง
ทั้งคู่คือบรรพชนของชาว Paiwan เรื่องของ Muakaikai มีอีกหลายสำนวน รวมทั้งเวอร์ชันของชาว Rukai เครือญาติใกล้ชิดที่สุดของชาว Paiwan แต่ในที่นี้จะขอเล่าเรื่องอื่น
เป็นนิทานที่ชาวไต้หวันรู้จักกันดี
นานมาแล้ว หัวหน้าเผ่า Rukai มีลูกสาวนางหนึ่งชื่อว่า Baleng ความงามของนางเป็นที่เลื่องลือไปยังต่างเผ่า
เช่น Paiwan
และ Bunun จนกระทั่งถึงวัน bringing satisfaction ในเทศกาลเก็บเกี่ยว
หนุ่มน้อยใหญ่จากหลายหมู่บ้านพากันนำของขวัญมาสู่ขอ Baleng แต่ไม่มีใครเป็นที่ต้องตาต้องใจนางเลย
ขณะที่กำลังปลีกวิเวกไปสูดอากาศ Baleng พลันได้ยินเสียงขลุ่ยชวนหลงใหลมาพร้อมกับสายลมหอมสดชื่น
นางติดตามต้นเสียงเข้าไปยังป่าลึก ขณะที่กำลังเคลิบเคลิ้มกับเสียงขลุ่ย Baleng พลันพบว่า ตัวเองกำลังถูกโอบรัดโดย hundred pacer ขนาดมหึมาตัวหนึ่ง
แต่ในสายตาของนางกลับมองเห็นเป็นชายหนุ่มรูปงามผู้หนึ่ง
แท้จริงแล้ว งูใหญ่ตนนี้คือ Kamamaniane หัวหน้าเผ่า Dalupalhing ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมดเป็นงู
ทั้งสองตกหลุมรักและกอดรัดกันแนบแน่นจนเสร็จสมอารมณ์หมาย Kamamaniane สัญญาว่าเขาจะไปสู่ขอ Baleng อย่างถูกต้องตามประเพณีในภายหลัง
หลายวันต่อมา Kamamaniane ก็นำของขวัญพร้อมขบวนผู้ติดตามอันเอิกเริกมายังหมู่บ้าน
Rukai
ชาวบ้านพากันตื่นตกใจ
เพราะในสายตาของพวกเขา ขบวนที่เห็นคือกองทัพงู จึงพากันไปเตือนหัวหน้าเผ่า เตรียมขับไล่งูออกไปจากหมู่บ้าน
แต่ Kamamaniane
ก็เสกพายุลูกใหญ่เป็นการข่มขวัญแล้วปลอบโยนชาวบ้านว่า
จะไม่ทำอันตรายพวกมนุษย์ เขาเพียงต้องการแต่งงานกับ Baleng เมื่อได้เห็นอำนาจเหนือธรรมชาติของเจ้าอสรพิษ
พ่อของ Baleng
จึงยอมยกลูกสาวให้
ในวันแต่งงาน ชาวบ้านตามไปส่งตัวเจ้าสาวตามประเพณีที่หมู่บ้านของชาว
Dalupalhing
ซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
เมื่อเสร็จพิธี Kamamaniane กับ Baleng หายวับไปในสายหมอก ชาวบ้านก็กลับไป
ทั้งสองเผ่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติตลอดมา หลายปีผ่านไป Baleng ก็ให้กำเนิดลูก 2 คน นางไม่สามารถออกจาก Dalupalhing ได้ จึงส่งลูก ๆ
ไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่และชาวบ้านแทนในเทศกาลเก็บเกี่ยวของทุกปี
จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปหลายชั่วอายุคน
เมื่อถึงวันเทศกาล ลูก ๆ ของ Baleng ก็เดินทางไปเยี่ยมเยียนชาว Rukai เช่นเคย
แต่มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งไม่รู้เรื่องราวของ Baleng เมื่อพบเห็นงู (ลูกของ Baleng) นอนขดอยู่ในเปล ด้วยความตกใจกลัว
นางจึงคว่ำเปลนั้นลง ลูกงูก็ตกลงบนพื้น เลื้อยกลับไปหาแม่ด้วยความเจ็บอาย
เมื่อ Baleng ได้ฟังเรื่องราวก็ตระหนักได้ว่า
นางถูกผู้คนของนางลืมเลือนจนหมดสิ้นแล้ว จึงตัดสินใจกลายร่างเป็นนกกระยาง
คอยบินผ่านหมู่บ้านของชาว Rukai เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คนจดจำเรื่องราวของนางตลอดไป
งู ต้นไผ่ และก้อนหิน
ยังเป็นองค์ประกอบที่พบได้บ่อยในตำนานของฟิลิปปินส์ ซึ่งน่าจะเป็นสถานีแรกของ Austronesian Expansion ยกตัวอย่างเช่น
นิทานกำเนิดโลกสำนวนหนึ่ง เมื่อ Bathala มหาเทพสร้างโลกขึ้นมา มีเพียงแผ่นฟ้า ผืนน้ำ และนกสวรรค์เรียกว่า Tigmamanukan มันบินอยู่เหนือน่านน้ำตลอดเวลา
ไม่มีพัก จนเริ่มรู้สึกอ่อนล้า ท้องฟ้าจึงบอกกับมันว่า มีเกาะเล็ก ๆ
แห่งหนึ่งผุดขึ้นมาจากน้ำ ให้เจ้านกลงไปสร้างรังที่นั่น Tigmamanukan ก็ไปตามที่บอก
บนเกาะที่ว่านี้มีไผ่ต้นหนึ่งงอกขึ้นมา
เกิดจากการสมจรกันของแผ่นดินกับลมทะเล Tigmamanukan เห็นต้นไผ่เกะกะจึงใช้จะงอยปากเจาะมันจนแตกออก
ทันใดนั้นก็ปรากฏมนุษย์ชาย-หญิงคู่หนึ่งถือกำเนิดมาจากไผ่ทั้งสองซีก
เพศชายมีชื่อว่า Malakas แปลว่า บักถึก (the strong one) ฝ่ายเพศหญิงชื่อว่า Maganda แปลว่า นางงาม (the beautiful one) ทั้งสองเป็นบรรพชนของเผ่าต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์
ชาว Austronesian น่าจะเริ่มอพยพจากเกาะไต้หวันราว 3,000 BCE ไปยังเกาะลูซอน
ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดทางทิศใต้ จากนั้นจึงเริ่มแตกออกเป็นหลายกลุ่มเรียกว่า Malayo-Polynesian กระจายตัวไปยังทิศตะวันออกในมหาสมุทรแปซิฟิก
ได้แก่ Micronesia
(เช่น
หมู่เกาะ Northern
Mariana, Guam, Kiribati), Melanesia (เช่น ตามชายฝั่งเกาะ New Guinea, หมู่เกาะ Bismarck, Vanuatu, Fiji) และ Polynesia (เช่น Tonga, Hawaii, New Zealand ไกลสุดถึงหมู่เกาะ Easter)
ส่วนทางใต้และตะวันตก จากเกาะลูซอน
ไปยังหมู่เกาะ Visaya,
Mindanao, Borneo, Sulawesi, Halmahera, Maluku, Java, Bali, Lesser Sunda, Timor,
Sumatra หมู่เกาะ
Cocos
คาบสมุทรมลายู และเวียดนามตอนใต้
ราวศตวรรษที่ 6 ชาว Austronesian จาก Borneo หรือ Sulawesi ก็ล่องเรือไปถึง Madagascar และตั้งรกรากที่นั่น นอกจากนี้ชาว Austronesian บางกลุ่มยังอพยพจากไต้หวันไปทางเหนือถึงหมู่เกาะริวกิวและคิวชู
จะเห็นได้ว่า
ชนพื้นเมืองบนเกาะไต้หวันที่หลงเหลืออยู่ ส่วนมากจะอาศัยในเขตภูเขา
ไม่ชำนาญการเดินเรือ คือกลุ่มคนที่ไม่อยากย้ายประเทศไปไหน
ใช้ชีวิตพอเพียงต่อไปในดินแดนบรรพชน แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพกลับมาจากที่อื่น เช่น
ชาว Kavalan
ซึ่งกล่าวว่าบรรพบุรุษของพวกเขาล่องเรือมาจากทิศตะวันออก
(อาจเป็นหมู่เกาะริวกิว) ราว 1,000 ปีก่อน ขับไล่ชาว Atayal ถอยร่นไปอยู่ในเขตหุบเขา แล้วยึดครองที่ราบอี๋หลาน (宜蘭) ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ
อีกตัวอย่าง ได้แก่ ชาว Yami หรือ Tao บนเกาะหลานอวี่ (蘭嶼) หรือ Orchid Island ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน มีภาษาพูดที่ใกล้เคียงกับชาว Ivatan ในหมู่เกาะ Batanes ทางเหนือสุดของฟิลิปปินส์
คาดว่าอพยพมายังเกาะแห่งนี้ราวศตวรรษที่ 13
เรื่องราวออกทะเลของผู้เขียน เอ้ย!
กลุ่มชาติพันธุ์ Austronesian ยังไม่จบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ ในภาพประกอบคือ Baleng เมียงูแห่งเผ่า Rukai
Comments
Post a Comment