A His-story of SEA: The Face of God?
หน้ากากซานซิงตุยไม่ใช่เอเลี่ยน แต่เป็นร่องรอยวัฒนธรรมสำริด ตำนานแคว้นสู่ และความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต-พม่า
ตอนเป็นเด็ก
หลายคนอาจเคยเก็บก้อนหิน ก้อนกรวด ที่มีรูปร่างหรือสีสันแปลก ๆ
มาเป็นสมบัติบ้ากันอยู่บ้าง พอโตขึ้นแล้วมองย้อนกลับไป เราอาจสงสัยว่า ทำไปทำไม
ไร้สาระชะมัด แต่ความจริงแล้ว นั่นคือพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ
อันนำไปสู่ความก้าวหน้าของมนุษยชาติเมื่อหลายพันปีก่อน
ในบทที่ 3 เราพูดถึง Three-ages System อันได้แก่ ยุคหิน ยุคสำริด
และยุคเหล็ก กันไปบ้างแล้ว เมื่อมนุษย์รู้จักใช้หินเป็นเครื่องมือ
ก็เริ่มรู้จักจำแนกประเภท เช่น หินอ่อน หินแกรนิต หินทราย ศิลาแลง คาร์เนเลียน ฯลฯ
และพบแร่ที่ติดมากับหิน เช่น หยก ทองคำ โลหะ เพชร พลอย ฯลฯ
ซึ่งมีความแวววาวสะท้อนแสงน่าครอบครอง จึงหาวิธีสกัดแร่เหล่านั้นมาใช้งาน
จนกระทั่งเรียนรู้ว่า ไฟ สามารถหลอมโลหะให้ละลาย และนำมาหลอมใหม่ ขึ้นรูปเป็นเครื่องมือที่ทนทานกว่าหินและไม้ได้อีกด้วย
ในบรรดาโลหะเหล่านี้ ทองแดง ดูจะมีสำคัญมากที่สุด
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หลายคนที่สนใจเรื่องภาษาอาจเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง เกี่ยวกับหัวข้อที่ว่า
สมัยก่อนคำว่า “ทอง” หมายถึง ทองแดง ที่แชร์กันใน social media เรื่องของเรื่องคือ
ผู้เผยแพร่อาศัยข้อมูลจากรากศัพท์ของคำว่า ทอง ในภาษาไทย ว่าอาจมาจากภาษาจีนโบราณ
(Old
Chinese) ว่า
ถง (銅) หมายถึง ทองแดง
จึงนำเสนออย่างรวบรัดว่า usage ของคำว่า ทอง ในสมัยโบราณอาจหมายถึง ทองแดง ไม่ใช่ ทองคำ
ผู้เขียนเห็นว่าข้อมูลนี้ไม่น่าจะถูกต้อง
ทองคำ ในภาษาจีนใช้คำว่า จิน (金) มาแต่ไหนแต่ไร
และเป็นรากศัพท์ของคำว่า คำ ในภาษาไทยที่หมายถึง ทอง(คำ) นอกจากนี้ตัวอักษร 金 ยังมีความหมายครอบคลุมถึงโลหะทุกชนิดในบางกรณีอีกด้วย
สังเกตดูคำว่า ถง (銅) เป็นอักษรประสมระหว่าง 金 กับ 同 (อ่านว่า ถง เหมือนกัน แปลว่า คล้าย)
อักษรเดี่ยวย่อมต้องมีมาก่อนอักษรประสม ดังนั้น จิน (金) น่าจะเป็นคำเก่ากว่า ถง (銅) และจากหลักฐานทางโบราณคดี
มนุษย์รู้จักทองคำธรรมชาติมาตั้งแต่ยุค Palaeolithic ก่อนจะรู้จักนำมาหลอมเข้ารูปในช่วง 5,000 BCE พร้อม ๆ กับทองแดง อนึ่ง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า ทอง เป็นคำไทยแท้
แต่ผู้เขียนสงสัยว่าน่าจะเป็นคำยืมมาจากภาษา Austroasiatic มากกว่า
สันนิษฐานกันว่า การถลุงโลหะ
เริ่มปรากฏครั้งแรกบริเวณ Fertile Crescent พบเหมืองทองแดงเก่าแก่ที่สุดอายุราว 7,000-6,000 BCE ใน Timna Valley ประเทศอิสราเอล
จากนั้นเทคโนโลยีนี้ก็แพร่หลายไปยังยุโรป เอเชีย และแอฟริกา
พบร่องรอยการหลอมขวานทองแดงที่เก่าแก่ที่สุดอายุราว 5,500 BCE ที่ Belovode ประเทศเซอร์เบีย
นักโบราณคดีบางกลุ่มเห็นความสำคัญของทองแดง จึงแยก ยุคทองแดง (Copper Age, Eneolithic หรือ Chalcolithic*) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างยุค Neolithic กับยุคสำริด
*คำว่า
Chalcolithic
มาจาก khalkos (ทองแดง) + lithos (หิน) ในภาษากรีก
แปลตรงตัวในภาษาไทยได้ว่า ยุคทองแดงปนหิน อาจสร้างความสับสนกับ charcoal ที่แปลว่า ถ่าน
ซึ่งไม่เกี่ยวกันได้ง่าย
จากนั้นราว 4,000 BCE เป็นต้นมา มนุษย์ก็เริ่มรู้จักการหลอมโลหะผสม
(alloy)
และโลหะที่เปลี่ยนโลกคือ สำริด (bronze) ก็ถือกำเนิด
โดยทั่วไปเป็นการผสมกันระหว่างทองแดงกับโลหะอื่น ๆ เช่น ดีบุก ราว 10-20% นอกจากใช้เป็นเครื่องมือในชีวิตประจำวัน
ยังใช้ทำเครื่องประดับ อาวุธ รูปเคารพ ฯลฯ ด้วยความทนทานและยากที่จะนำมาหลอมใหม่ (recast) เมื่อเป็นสนิม
วัตถุโบราณชนิดนี้จึงตกทอดหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก
เป็นที่มาของการจำแนกยุคสำริด (ราว 3,300-1,200 BCE) ในทางประวัติศาสตร์
ในซีกโลกตะวันออก
เครื่องมือสำริดเริ่มปรากฏในวัฒนธรรมหม่าเจียเหยา (馬家窯) บริเวณต้นแม่น้ำหวงในกานซู่
ซึ่งดำรงอยู่ในช่วง 3,300-2,000 BCE สันนิษฐานว่ากลุ่มชาติพันธุ์ Sino-Tibetan รับเอาเทคโนโลยีนี้มาจากเอเชียกลาง
และเผยแพร่ไปยังลุ่มแม่น้ำหวงตอนกลางในวัฒนธรรมหย่างเสา หลงซาน
และเอ้อหลี่โถวต่อไป ยุคสำริดในจีนเฟื่องฟูถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ซาง (商) ราว 1,600-1,045 BCE และราชวงศ์โจว (周) ราว 1,046-256 BCE
ภาษา Sino-Tibetan เป็นตระกูลใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจาก
Indo-European
โดยทั่วไปสันนิษฐานกันว่า homeland ของคนกลุ่มนี้คือบริเวณลุ่มแม่น้ำหวง
และแยกออกเป็นสองสายใหญ่คือ กลุ่มที่พูดภาษา Sinitic (ภาษาจีนสำเนียงต่าง ๆ) กับ non-Sinitic หรือ Tibeto-Burman ได้แก่ ภาษา Tibetic, Lolo-Burmese, Karenic,
Qiangic, Naga, Boro-Garo, Meitei, Kuki-Chin ฯลฯ
ซึ่งกลุ่มหลังน่าจะเริ่มอพยพจากลุ่มแม่น้ำหวงไปทางตะวันตกเฉียงใต้สู่ ทิเบต
ซื่อชวน หยุนหนาน พม่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และเทือกเขาหิมาลัย ราว 4,000 BCE เป็นต้นมา
นักภาษาศาสตร์บางคนมีข้อเสนอที่ต่างไป
เช่น George
van Driem เชื่อว่า
Sino-Tibetan
homeland น่าจะอยู่ในที่ราบซื่อชวนราว
9,000
ก่อน
และบรรพบุรุษของกลุ่มที่เขาเรียกว่า Trans-Himalayan เริ่มอพยพสู่ลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรและเทือกเขาหิมาลัยเป็นกลุ่มแรก
ต่อมาราว 6,500
BCE บรรพบุรุษของกลุ่ม
Sinitic
และ Tibetic จึงอพยพขึ้นเหนือสู่ลุ่มแม่น้ำหวง
จนถึงราว 1,500
BCE บรรพบุรุษของกลุ่ม
Karenic
และ Lolo-Burmese จึงอพยพลงไปทางใต้
ในขณะที่ Roger Blench เสนอว่า บรรพบุรุษของ Sino-Tibetan เคยอาศัยอยู่บริเวณตะวันออกของอินเดียเมื่อราว
9,000
ปีก่อน
แล้วอพยพไปยังเทือกเขาหิมาลัยกับลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ข้ามไปยังที่ราบสูงทิเบต
แล้วกระจายไปยังลุ่มแม่น้ำหวงต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 นักภาษาศาสตร์ เช่น Laurent Sagart, จางเมิ่งฮั่น (張夢翰) และพานอู้หยุน (潘悟云) ลองคำนวณสายวิวัฒนาการทางภาษาด้วยคอมพิวเตอร์
ได้ผลวิเคราะห์ออกมาว่า Sino-Tibetan homeland อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำหวงในช่วง 5,800-5,200 BCE นั่นแหละ
เทคโนโลยีสำริดของชาว Sino-Tibetan แพร่หลายต่อไปยังกลุ่มอื่น ๆ เช่น Korean, Mongolic, Japonic,
Hmong-Mien, Kra-Dai, Austronesian และ Austroasiatic ในแต่ละท้องที่มีพัฒนาการทางศิลปะแตกต่างกันไปจนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะ
เช่น กลองมโหระทึกในวัฒนธรรมของชาวไป่เยว่ (ซึ่งจะกล่าวถึงในบทอื่นต่อไป)
และที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น หน้ากากซานซิงตุย ซึ่งมักปรากฏในสื่อจีนบ่อย ๆ
ซานซิงตุย (三星堆) เป็นแหล่งโบราณคดีมรดกโลกในกว่างฮั่น (廣漢) ทางตะวันออกของซื่อชวน อายุราว 2,800-1,100 BCE มีผังเมืองรูปสี่เหลี่ยม
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจียน (湔) ร่วมสมัยเดียวกับราชวงศ์ซางทางตอนเหนือและวัฒนธรรมเป่าตุน
(寶墩) ในที่ราบเฉิงตูไม่ไกล
พบวัตถุโบราณประเภทสำริดจำนวนมาก เช่น หน้ากาก คน นก ต้นไม้ อาวุธ
และเครื่องใช้อื่น ๆ หน้าคนในศิลปะซานซิงตุยมีลักษณะพิเศษคือ มีจมูก หู
และตาที่แหลม แสดงโหนกแก้มชัดเจน ดูแล้วคล้ายมนุษย์ต่างดาว จึงมักถูกนำไปใช้ใน pop culture ของจีน ไม่ว่าจะเป็น animation หรือ เกม
ทุกวันนี้ยังไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าประชากรของซานซิงตุยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด
และไม่มีบันทึกประวัติศาสตร์เล่มใดกล่าวถึง
นักโบราณคดีจีนกระแสหลักสันนิษฐานกันว่า ซานซิงตุยอาจเป็นเมืองหลวงของแคว้นสู่ (蜀) ในสมัยโบราณ และประชากรอาจเป็นกลุ่ม early Tibeto-Burman
หัวหยางกั๋วจื้อ (華陽國志) ที่เขียนขึ้นโดย ฉางฉวี (常璩) บัณฑิตแห่งราชวงศ์เฉิงฮั่น (304-347 CE) เป็นพงศาวดารที่กล่าวถึงแคว้นที่อยู่ทางใต้เขาหัวซานลงไป
ได้แก่ ฮั่นจง ปา สู่ และหนานจง กล่าวถึงภูมิประวัติศาสตร์ของแต่ละแคว้น
ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงยุค 16 แคว้น
5 ชนเผ่า หรือ จิ้นตะวันออก
เฉิงฮั่นเป็น 1 ใน 16 แคว้น มีศูนย์กลางอยู่ในซื่อชวน
ก่อตั้งโดย หลี่สง (李雄) จากชนเผ่าตี (氐)
พงศาวดารหัวหยางกล่าวว่า ฉานฉง (蠶叢) เป็นอ๋องคนแรกของแคว้นสู่ ชื่อของเขาแปลว่า กอไหม
เนื่องจากเป็นผู้สอนให้มนุษย์รู้จักปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้ตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม
เขามักสวมชุดไหมสีคราม ชนรุ่นหลังจึงเรียกว่า เทพชุดคราม (青衣神) ซึ่งในตำนานทางเหนือจะเล่าต่างกันว่า เหลยจู่ (嫘祖) มเหสีของหวงตี้เป็นผู้ค้นพบการเลี้ยงไหมและประดิษฐ์เสื้อผ้า
ตำรายังกล่าวว่า ฉานฉง เป็นผู้มีดวงตาลักษณะประหลาด ทำให้นักโบราณคดีตีความว่า
หน้าคนที่มีดวงตายาวยื่นที่พบในซานซิงตุยนั้นเป็นภาพแทนสื่อถึง ฉานฉง
พงศาวดารหัวหยางกล่าวถึงจุดนี้เพียงสั้น
ๆ ว่า
周失紀綱,蜀先稱王。有蜀侯蠶叢,其目縱,始稱王。
แปลรวมความได้ว่า เมื่อโจวสิ้นจีกัง
สู่โหว(พญา)ฉานฉง ผู้มีดวงตาตั้งตรง (其目縱) ตั้งตนเป็นอ๋องคนแรกของแคว้นสู่
จ้ง (縱) แปลตรงตัวหมายถึง แนวตั้ง ดูแล้วน่าจะหมายถึง ฉานฉงมีดวงตาเป็นแนวตั้ง
ลักษณะเดียวกับดวงตาที่สามของพระศิวะที่เราเห็นในภาพเขียนฮินดู
มากกว่าที่จะหมายถึงยาวยื่นออกมาแบบในหน้ากากสำริดซานซิงตุย แต่ไม่แน่
พงศาวดารหัวหยางอาจบรรยายไม่ตรงกับการรับรู้ของคนท้องถิ่นก็เป็นได้
หลังรัชสมัยฉานฉง แคว้นสู่มีผู้นำต่อมาอีกหลายคน ได้แก่ ป๋อก้วน (柏灌) อวี๋ฝู (魚鳧) ตู้อวี่ (杜宇) และไคหมิง (開明)
สู่หวังเปิ่นจี้ (蜀王本紀) หรือ พงศาวดารแคว้นสู่ เขียนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 BCE–8 CE) โดย หยางสง (揚雄) เป็นหนึ่งในตำราอ้างอิงของหัวหยางกั๋วจื้อ
แต่มีเนื้อหาเป็นลักษณะตำนานอิงอภินิหารอยู่มากเล่าว่า ในรัชกาลของตู้อวี่
หลังจากสอนผู้คนในแคว้นสู่และปาให้รู้จักทำการเพาะปลูก (คล้ายตำนานเสินหนง)
มีชาวแคว้นฉู่ชื่อ เปียหลิง (鱉靈) แปลว่า วิญญาณเต่า
เขาตายกลายเป็นศพลอยทวนน้ำไปยังแคว้นสู่ แล้วกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา
ตู้อวี่อัศจรรย์ใจจึงแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา
เปียหลิง
สร้างวีรกรรมด้วยการปกป้องผู้คนจากอุทกภัย (คล้ายตำนานต้าอวี่)
ด้วยความช่วยเหลือของแรดหิน (石犀) ซึ่งคอยบริหารจัดการเทพแห่งน้ำ
และห้าผู้กล้าจอมพลัง (五丁力士) ซึ่งช่วยขุดคลองระบายน้ำจากภูเขา
เทพธิดาแห่งเขาลูกนั้น (山之精) ยังกลายมาเป็นมเหสีของตู้อวี่อีกด้วย
หลังจากครองราชย์มายาวนาน
ตู้อวี่ก็ละสังขารกลายร่างเป็นนกกาเหว่า (鵑) เปียหลิงจึงครองบัลลังก์แคว้นสู่ต่อมาในนามไคหมิง
มีลูกหลานสืบเชื้อสายต่อกันมาจนแคว้นล่มสลายเมื่อ 316 BCE เรื่องราวของเปียหลิงหรือไคหมิงอาจเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากผู้ปกครองท้องถิ่นสู่ผู้ปกครองจากวัฒนธรรมจงหยวนก็เป็นได้
ในปี 2006 หยางกานไฉ กับ หวังอี สองสามี-ภรรยา
ผู้กำกับหนังสารคดีเรื่อง Transformation เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวอาข่าบริเวณชายแดนจีน-พม่าเผยว่า พวกเขาพบความเชื่อมโยงระหว่างตำนานของชาวอาข่ากับวัฒนธรรมซานซิงตุย
โดยเล่าว่า เทพเจ้าของชาวอาข่ามอบดวงตาของตัวเองแก่นกยักษ์ตาบอดตัวหนึ่ง
มันจึงสามารถทำลายล้างทุกสิ่งมันที่จ้องมองได้ ทุกวันนี้
ชาวอาข่าจะมีนกแกะสลักประดับหลังคาบ้านเพื่อป้องกันโชคร้าย นี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมรูปปั้นคนที่ซานซิงตุยจึงไม่มีลูกตาดำอยู่เลย
ในขณะที่รูปปั้นนกจะเห็นตาดำชัดเจน
หยางยังกล่าวว่า
ชาวอาข่ามีประเพณีนับถือต้นไม้ใหญ่ ทุกปีในฤดูใบไม้ร่วง
จำนวนใบไม้ที่ร่วงลงมาจะทำนายจำนวนเด็กที่เกิดใหม่ในปีนั้น
ความเชื่อนี้อาจเกี่ยวข้องกับต้นไม้สำริดที่ซานซิงตุย
นอกจากนี้โลงศพของชาวอาข่ายังมีลักษณะคล้ายกับโลงศพรูปเรือที่พบกว่า 200 แห่งในเฉิงตู อายุระหว่าง 700-200 BCE ทั้งที่ชาวอาข่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตภูเขา
แทบไม่รู้จักการเดินเรือในแม่น้ำ อย่างไรก็ตาม
ข้อเสนอของหยางยังไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ
ชาวอาข่าเป็น subgroup ของชาวฮานี ซึ่งเป็น subgroup ของชาวอี๋ (โลโล) อีกที
ตามความเชื่อของชาวฮานี โลกถูกสร้างโดยเทพสูงสุดชื่อว่า A-poe-mi-yeh แรกเริ่มเดิมทีมนุษย์กับผี (วิญญาณ)
อาศัยอยู่ร่วมกันโดยสันติ มนุษย์ใช้ชีวิตตอนกลางวัน ในขณะที่ผีตื่นตอนกลางคืน ทั้งสองฝ่ายมักลักขโมยอาหารของอีกฝ่ายในยามหลับ
จนเกิดความขัดแย้งกัน
A-poe-mi-yeh จึงจัดการแยกฟ้ากับดินออกจากกัน
ให้ทั้งสองฝ่ายเลือกว่าจะอยู่ที่ไหน เนื่องจากเวลานั้นเป็นกลางวัน
มนุษย์จึงได้เป็นฝ่ายเลือกแผ่นดิน ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากร
ในขณะที่ผีหลับใหลไม่รู้เรื่อง จึงต้องอาศัยอยู่บนฟ้าและอิจฉามนุษย์ที่มีทุกอย่าง
ในทุกปี ผีจึงลงจากฟ้ามาพร้อมสายฝน เพื่อสร้างภัยพิบัติแก่มนุษย์เป็นการล้างแค้น
มนุษย์เดือดร้อนจึงร้องเรียนกับ A-poe-mi-yeh เทพสูงสุดจึงสอนมนุษย์ให้ทำรูปนกตาโตไว้เหนือประตูบ้านเพื่อป้องกันการรบกวนจากผีได้สำเร็จ
(เหมือนความเชื่อของชาวอาข่า) แต่หลังจากนั้นมนุษย์ก็เริ่ม complain everything ในจักรวาล และเรียกร้องมากขึ้นว่า
อยากมีชีวิตยืนยาวถึง 100 ปี
A-poe-mi-yeh
รำคาญ
จึงสาปมนุษย์ให้ถูกผีรังควานเอาชีวิต ถ้าใครระวังตัวรักษาขวัญจึงจะอยู่รอดได้ถึง 100 ปี
แม้ตำนานของชาวฮานี-อาข่าจะไม่ได้กล่าวถึงซานซิงตุยโดยตรง
หรือปรากฏร่องรอยการสืบทอดวัฒนธรรมสำริด
แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่บรรพบุรุษของพวกเขาจะเคยอาศัยอยู่บริเวณซื่อชวนมาก่อน
ตามการสันนิษฐานเส้นทางอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ Tibeto-Burman ดังที่กล่าวไว้เบื้องต้น
การล่มสลายของวัฒนธรรมซานซิงตุยยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด
ในเขตชิงหยาง เมืองเฉิงตู มีแหล่งโบราณคดีสำคัญอีกแห่งเรียกว่า จินซา (金沙) พบวัตถุโบราณคล้ายกับที่พบในซานซิงตุย แต่มีอายุรุ่นหลังลงมาราว 1,200-400 BCE แต่ไม่พบซากกำแพงเมืองหรือคันดินอยู่เลย
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 หรือที่พำนักของผู้ปกครองแคว้นสู่ที่หนีการรุกรานจากศัตรูมาจากทางตะวันออก
สอดคล้องกับตำนานอีกสำนวนหนึ่งซึ่งเล่าว่า ไคหมิงชิงบัลลังก์จากตู้อวี่
จนฝ่ายหลังต้องหนีไปและกลายร่างเป็นนกกาเหว่า
ที่แน่ ๆ
หน้ากากซานซิงตุยไม่ได้มีต้นแบบมาจากมนุษย์ต่างดาว ความเหลี่ยมจัดที่ปรากฏบนใบหน้า
อาจเป็นพิมพ์นิยมในการสร้างสรรค์งานศิลปะ
หรือถอดแบบมาจากโครงหน้าของคนในวัฒนธรรมซานซิงตุยจริง ๆ ซึ่งมีเค้าใกล้เคียงกับชาว
Tibeto-burman
ทุกวันนี้อยู่บ้าง
ในภาพประกอบคือ
ฉานฉงกำลังตรวจงานผ้าไหม ตีความแบบ non-fantasy เอาว่าเป็นคนตาโปน ไม่มีลูกตาดำ
เพราะเป็นต้อหรืออะไรก็ว่าไป
Comments
Post a Comment