ตัวตนของขุนแผนในประวัติศาสตร์?
ขุนแผนไม่ใช่แค่ตัวละครในนิทานรักสามเส้า ตามการตีความที่ครอบงำสังคมมานาน แต่อาจมีตัวตนอยู่จริงในศึกอยุธยา–ล้านนา ผ่านร่องรอยจากเอกสารทางประวัติศาสตร์
หลายคนอาจคิดว่าขุนช้างขุนแผนเป็นนิทานที่แต่งขึ้นลอย ๆ หรือไม่ก็แต่งขึ้นจากเค้าโครงเพียงน้อยนิดว่าด้วยเรื่องรักสามเส้าระหว่างขุนแผน วันทอง และขุนช้าง ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องที่แต่งเติมในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นรบเชียงใหม่ ความขัดแย้งในรุ่นลูกหลาน ฯลฯ บ้างก็ว่า ขุนแผนไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เรามาลองสวมบทเป็นควายนันแล้ว investigate กัน
เสภาขุนช้างขุนแผนมีมากมายหลายสำนวน แต่งโดยกวีหลายคนเป็นตอน ๆ อาจต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องกัน ทำให้มีเนื้อหาคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้างในแต่ละตอน เริ่มจากการเป็นเรื่องเล่าปากต่อปาก (oral
tradition) จนกระทั่งถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
เชื่อกันว่าสำนวนเก่าสุดเริ่มแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
หรืออาจเริ่มขึ้นพร้อมกับการขับเสภาในราชสำนักสมัยสมเด็จพระนารายณ์
และมีการแต่งเพิ่มเติมเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเวลาหลายร้อยปี
เวอร์ชันที่รู้จักกันดีในปัจจุบันคือ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นบรรณาธิการเรียบเรียงไว้ในปี ค.ศ. 1917 เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า
เสภาขุนช้างขุนแผน ภาคต้น มีการตัดเนื้อหาบางส่วนออก
และนำสำนวนที่คิดว่าแต่งดีที่สุดมาบรรจุไว้ เช่น สำนวนครูแจ้ง ตอนกำเนิดกุมารทอง
ซึ่งไม่มีในฉบับอื่นที่แต่งมาก่อน
เนื้อหาส่วนที่ถูกตัดออกจากฉบับหอพระสมุดฯเรียกว่า เสภาขุนช้างขุนแผน ภาคปลาย ซึ่งอาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากนัก กรมศิลปากรสมัยที่ นายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดีได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์เป็นหนังสืองานศพ คุณหญิงเชื้อ ชลธารวินิจจัย (เชื้อ ชลานุเคราะห์) เมื่อ ค.ศ. 1966 โดยเริ่มตั้งแต่ตอนที่ 43 จระเข้เถรขวาด
ซึ่งมีกลอนบางบทเป็นปลายเปิดที่ถูกตัดออกในฉบับหอพระสมุดฯ จนถึงตอนที่ 75 อุปฮาดกับสมภารลาวจับพลายเพชรได้
เนื้อหาต้นฉบับสิ้นสุดลงเท่านั้น ไม่มีผู้แต่งต่อ หรืออาจมี
แต่ไม่ได้รับความนิยมและไม่ถูกตีพิมพ์
เวอร์ชันอื่น ๆ นอกจากฉบับหอพระสมุดฯ ได้แก่ ฉบับหมอสมิธ และ ฉบับวัดเกาะ พิมพ์ในศตวรรษที่ 19 นี่เอง
สองฉบับนี้มีเนื้อหาเหมือนกัน เพียงแต่สะกดคำต่างกันเล็กน้อย
ฉบับวัดเกาะมีบางตอนเป็นสำนวนเก่ากว่าฉบับหอพระสมุดฯ
เชื่อกันว่าอาจเป็นสำนวนเก่าที่หลงเหลือมาตั้งแต่ปลายอยุธยา
เริ่มเรื่องตั้งแต่กำเนิดขุนช้างขุนแผนไปจนถึงตอนพลายยงตาย
แต่ในการจัดพิมพ์เมื่อปี 2013 โดย
อ. ผาสุก พงษ์ไพจิตร & Chris Baker เป็นบรรณาธิการได้ตัดเนื้อหาให้จบเพียงแค่ตอนประหารนางวันทอง
ทำให้ผู้เขียนไม่ทราบว่าเนื้อหาตอนพลายยงเหมือนหรือต่างกับภาคปลายของกรมศิลปากรหรือไม่อย่างไร
ฉบับวัดเกาะไม่มีเรื่องสังหารนางบัวคลี่ กล่าวว่าขุนแผนได้กุมารทองจากโหงพรายชื่อ นางเพชรคง
และแม่ทัพเชียงใหม่ในศึกที่พลายงามร่วมไปด้วยมีชื่อว่า แสนราหู ไม่ใช่ท้าวกรุงกาฬ ส่วนแสนตรีเพชรกล้าเป็นชาวใต้ (อยุธยา) ที่เปลี่ยนข้างไปเข้ากับเชียงใหม่ ซึ่งก็เข้าเค้า เพราะสำนักถ้ำวัวแดงที่เพชรกล้าร่ำเรียนมานั้น น่าจะอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ รายละเอียดส่วนนี้กล่าวไว้ทั้งในฉบับวัดเกาะและหอพระสมุดฯ
อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กับ Chris Baker เห็นพ้องกันว่า
เค้าโครงเดิมน่าจะมีที่มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์โดยมีแกนเรื่อง
(core
story) คือเรื่องรักสามเส้า
ไม่เก่าไปกว่าสมัยพระนเรศ หรือ พระนารายณ์ ราวศตวรรษที่ 17 โดยวิเคราะห์จากข้อมูลในเสภากับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บางจุด
เช่น พลายแก้ว
ได้ชื่อนี้มาจากเหตุการณ์ที่อยุธยาได้แก้วจากเมืองจีนมาประดับยอดเจดีย์วัดเจ้าพระยาไทยในสมัยพระนเรศ
ดังกลอนเสภาตอนที่ 1 ว่าไว้ดังนี้
...ปีขาลวันอังคารเดือนห้า
ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย
กรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย
มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา
ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่
สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา
เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา
ให้ชื่อว่าพลายแก้วผู้แววไว...
วัดเจ้าพระยาไทย ก็คือวัดป่าแก้ว หรือ วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นวัดสร้างมาตั้งแต่สมัยพระรามาธิบดีที่ 1 แต่ยอดเจดีย์ใหญ่เพิ่งสร้างและได้ทับทิมใหญ่จากจีนมาประดับในสมัยพระนเรศ
สอดคล้องกับข้อความในเสภา
แต่ผู้เขียนคิดว่า รายละเอียดส่วนนี้อาจแต่งเติมขึ้นมาตามจินตนาการของกวีในยุคหลัง
เพื่อต้องการบอกเล่าที่มาของชื่อพลายแก้วให้ดูดีมีนิมิตหมาย ไม่จำเป็นว่า พลายแก้ว
หรือ ขุนแผน จะต้องมีตัวตนอยู่ในช่วงเวลานี้เสมอไป กวีสมัยรัตนโกสินทร์อาจใช้ข้อมูลร่วมสมัยในการแต่งวรรณคดี
เช่น ในรามเกียรติ์มีกล้องส่องทางไกล
กวีสมัยอยุธยาตอนปลายก็อาจใช้ข้อมูลร่วมสมัยแต่งเรื่องราวเกี่ยวกับอยุธยาตอนต้นด้วยเช่นกัน
อีกทั้งข้อมูลที่ว่าพลายแก้วเกิดปีขาลอาจไม่สามารถยึดถือจริงจังได้ เพราะในตอนที่ 6 กลอนเสภาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุของนางพิมไว้ดังนี้
...ฉันฤๅปีชวดนะหม่อมพี่
สิบหกปีปีนี้พึ่งปริปริ่ม
อ่อนกว่าพี่สองปีเจียวนะพิม
เจ้าเนื้อนิ่มพี่สายทองแกปีไร
พี่สายทองปีมะเมียคะหม่อมพี่
ได้ยี่สิบสองปีฉันจำได้
จะถามปีพี่สายทองไปทำไม
ฤๅรักใคร่สมสู่เป็นชู้เมีย...
ปกติการนับปีนักษัตรจะนับตามจันทรคติ ซึ่งเริ่มเปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 สิ้นสุดในวันแรม
15
ค่ำ เดือน 12 ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนศก
หรือ ศักราช ซึ่งนับตามสุริยะคติ โดยเริ่มเถลิงศกใหม่ในวันเถลิงศก
หรือวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หากพลายแก้วแก่กว่านางพิมซึ่งเกิดปีชวด 2 ปี
ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเกิดปีขาล
ข้อมูลเรื่องอายุและปีเกิดนี้คงเป็นเพียงจินตนาการของกวี หรือว่าไปตามโวหาร
ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากนัก
ราชทินนาม แผนสะท้าน หรือ แผลงสะท้าน เป็นยศตำแหน่งขุนนางกรมตำรวจภูบาล ปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเลย์ 3 ครั้งในรัชกาลสมเด็จพระนเรศ
ดังข้อความที่ปรากฏในคราวยกทัพไปตีอังวะ ค.ศ. 1604 ดังนี้
...เสด็จโดยชลมารคขึ้นเหยียบชัยภูมิตำบลตำบลเอกราช
ให้ขุนแผนสะท้านฟันไม้ข่มนาม โดยการพระราชพิธีชัยสงครามเสร็จ...
รวมทั้งมีข้อความกล่าวถึง ขุนแผน ใน ลิลิตตะเลงพ่าย ซึ่งแต่งโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส อาจารย์ทั้งสองจึงค่อนข้างเชื่อว่า เรื่องขุนช้างขุนแผน อาจมีเค้าโครงมาจากเหตุการณ์ในรัชสมัยดังกล่าว
ส่วนเรื่องนางสร้อยทอง เจ้าหญิงล้านช้างที่ถูกเชียงใหม่ชิงตัวจนเกิดศึกกับอยุธยา สุดท้ายขุนแผนพลายงามไปรบเชียงใหม่และชิงตัวมาถวายสมเด็จพระพันวสาได้ อาจารย์ทั้งสองให้ความเห็นว่า อาจมีเค้าโครงมาจากเหตุการณ์คราวสมเด็จพระนารายณ์ยกทัพไปตีเชียงใหม่ในช่วงปี ค.ศ. 1662-64 และได้นางกุสาวดี
ซึ่งต่อมามอบให้แก่พระเพทราชาและให้กำเนิดนายมะเดื่อ (พระเจ้าเสือ)
เพราะไม่ปรากฏในพงศาวดารว่าล้านช้างเคยถวายเจ้าหญิงแก่กษัตริย์อยุธยามาก่อนหน้านั้น
มีเพียงเหตุการณ์กลับกันในสมัยพระมหาจักรพรรดิ
ที่ส่งพระเทพกษัตรีย์ไปเป็นมเหสีพระไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง แต่ถูกพม่าชิงตัวไป
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าอาจารย์ทั้งสองได้ทำการศึกษาต่อยอดและโต้แย้งชุดความรู้เดิมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเคยให้ความเห็นไว้ว่า เรื่องขุนช้างขุนแผน มีเค้าโครงมาจากเหตุการณ์จริงในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยอ้างอิงจากข้อความในเสภาตอนต้นเรื่องที่กล่าวถึง
ศักราช 147
ปี ท่านตีความว่าอาจเขียนตกไป
น่าจะเป็นศักราช 847 ซึ่งจะตรงกับปี
ค.ศ. 1485
ตรงกับปลายรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
แต่ภายหลังสืบทราบว่าในฉบับหมอสมิธและฉบับวัดเกาะ กล่าวถึงตอนนี้ว่าเป็นศักราช 127 ปี ข้อสันนิษฐานนี้จึงตกไป
แต่ยังมีหลักฐานอีกชิ้นคือหนังสือเจ้าปัญหา คำให้การชาวกรุงเก่า
ซึ่งทั้งสองท่านไม่เชื่อถือและไม่นับว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์
เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าเชิงนิทาน
เนื้อหาคลาดเคลื่อนจากจดหมายเหตุและพงศาวดารอยู่มาก
คำให้การชาวกรุงเก่า เป็นหนังสือที่แปลจากภาษามอญเป็นพม่า เรียบเรียงจากคำให้การของเชลยชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนไปหลังเสียกรุง ค.ศ. 1767
ถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เสภาขุนช้างขุนแผนเริ่มแต่งกันในราชสำนักกรุงเทพฯ
แต่กว่าจะได้ต้นฉบับมาแปลเป็นภาษาไทยก็ล่วงเลยมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านั้นมีหนังสือที่มีเนื้อหาคล้ายกันคือ
คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
มีเนื้อหาเริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาได้ในรัชกาลพระมหินทราธิราช
บรรยายภูมิสถานต่าง ๆ แต่มีเนื้อหาคลาดเคลื่อนอยู่มาก
เมื่อกรมฯดำรงฯได้หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่ามา จึงพบว่ามีเนื้อหาช่วงต้นที่หายไป
ส่วนมากเป็นนิทานบรรพกษัตริย์ ตั้งแต่พระเจ้าประทุมสุริยวงศ์ พระร่วง
พระเจ้าอู่ทอง ฯลฯ รวมถึงข้อมูลภูมิสถานที่ถูกต้องกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัด
ท่านจึงทราบว่าหนังสือทั้งสองเล่มนี้มีที่มาจากแหล่งเดียวกัน
แต่คำให้การชาวกรุงเก่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์กว่า
คำให้การกรุงเก่า กล่าวถึงขุนแผนในรัชสมัยของสมเด็จพระพันวสา ซึ่งเป็น สามัญนาม ไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ว่าหมายถึงกษัตริย์องค์ใด แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าเป็น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เนื้อหาตอนนี้เล่าไว้ใกล้เคียงกับในเสภาที่เราคุ้นเคยกันมาก
คือขุนแผนต้องโทษอยู่ในคุก (ด้วยสาเหตุใดไม่ทราบ)
เมื่อทางเชียงใหม่ชิงตัวพระธิดาจากล้านช้าง จมื่นศรีฯจึงกราบทูลให้ขุนแผนไปออกศึก
ขุนแผนพ้นโทษออกมาก็ขึ้นไปหัวเมืองเหนือ เอาดาบกับม้าที่ฝากพระพิจิตรไว้
แล้วรบชนะเชียงใหม่ ได้ตัวพระธิดาคืนมา รวมทั้งจับพระเจ้าเชียงใหม่ได้ด้วย
แน่นอนว่าเรื่องราวดังกล่าว exaggerate
ไปบ้างเป็นธรรมดา
นักโทษคนหนึ่งจะได้รับมอบหมายเป็นแม่ทัพออกศึกใหญ่คงเป็นไปได้ยาก
และในสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 มีเหตุการณ์รบเชียงใหม่เพียงสองครั้งที่บันทึกไว้ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ครั้งแรกคือ ทัพเชียงใหม่ตีสุโขทัยในปี ค.ศ. 1513 และทัพอยุธยาตีเมืองลำปางได้ในปี
ค.ศ. 1515
พระรามาธิบดีทรงยกทัพไปเอง
กษัตริย์เชียงใหม่ในช่วงนั้นคือ พระเมืองแก้ว (พญาแก้ว) ไม่เคยถูกจับตัวมาอยุธยา
หนีไปเมืองเชียงแสนเมื่อรบแพ้
แต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ที่เล่าไว้ในคำให้การชาวกรุงเก่าจะตรงกับเหตุการณ์ในพงศาวดารช่วงนี้
ข้อสังเกตที่ผู้เขียนอยากชี้ให้ดูก็คือ ทำไมในคำให้การชาวกรุงเก่าจึงมีเรื่องราวของขุนแผน รวมทั้งตัวประกอบอย่างจมื่นศรีฯ พระพิจิตร รวมทั้งม้าสีหมอกและดาบฟ้าฟื้น แต่กลับไม่ได้กล่าวถึงเรื่องรักสามเส้า หรือขุนช้างกับวันทองเลย รวมทั้งพลายงามด้วย อาจารย์ผาสุกและคริสเชื่อว่า คำให้การชาวกรุงเก่าน่าจะได้เรื่องขุนช้างขุนแผนไปจากเสภาสำนวนกรุงเก่า ก็นั่นน่ะสิ แล้วทำไมไม่กล่าวถึงเรื่องรักสามเส้าเลย ถูกตัดออกหรืออย่างไร แม้อาจารย์ทั้งสองจะให้คำอธิบายที่สมเหตุสมผล แต่ผู้เขียนเห็นต่างกับทั้งสองท่านคือ โครงเรื่อง (core story) จริง ๆ ของขุนช้างขุนแผนคือ
การรบเชียงใหม่ ไม่ใช่เรื่องรักสามเส้า ซึ่งเป็นเพียงส่วนเสริม
ไม่ใช่สาระสำคัญในวรรณคดีเรื่องนี้ และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
เรื่องขุนช้างขุนแผน มีเค้าโครงมาจากพฤติการณ์ของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสงครามอยุธยา-เชียงใหม่ และมีชื่อเสียงว่าเป็นคนดีมีวิชา (คนดีในสมัยโบราณหมายถึง คนมีดี
ไม่จำเป็นต้องประพฤติดีซื้ดอ่าส์อะไร) อาจไม่ได้ชื่อ พลายแก้ว เหมือนในเสภาก็ได้ แต่ใช้ราชทินนาม แผนสะท้าน จะมียศเป็น ขุน หรืออะไรก็ได้ อนุมานจากเนื้อหาในเสภาได้ว่า สงครามอยุธยา-เชียงใหม่ที่ว่านี้เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นราวศตวรรษที่ 15-16 หลังจากหัวเมืองเหนือ (สุโขทัย)
เป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาแล้ว
เพราะเชียงใหม่ในสมัยพระนเรศเป็นต้นมาตกเป็นประเทศราชของพม่ามาจนถึงสมัยธนบุรี
ไม่มีเค้าความในเสภาบ่งบอกว่าเป็นยุคดังกล่าว และในภาคปลาย
ตอนพลายยงไปเกิดใหม่เป็นกษัตริย์หงสาวดีแล้วยกมาตีเชียงใหม่
ดูสอดล้องกับเหตุการณ์ที่พระเจ้าบุเรงนองตีเชียงใหม่ได้ใน ค.ศ. 1558 อีกทั้งตามท้องเรื่องในเสภา
กษัตริย์อยุธยาที่ครองราชย์ต่อจากพระพันวสาคือ พระมหาจักรพรรดิ
แม้ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงจินตนาการของกวี
ไม่ได้ยึดโยงกับเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ควรมองข้าม
สมมติว่า ขุนแผน คนนี้มีตัวตนอยู่จริง เขาได้เป็นแม่ทัพไปรบเชียงใหม่จริงหรือ อาจจริงหรือไม่จริงก็ได้
และพฤติการณ์ของเขาอาจไม่เท่อย่างที่เล่าลือกันจนกลายมาเป็นนิทาน ผู้เขียนขอเสนอหลักฐานสำคัญอีกชิ้นคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ผูกที่ 4 กล่าวถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช
ซึ่งกำลังทำศึกกับอยุธยาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
มีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึงคนผู้หนึ่งนามว่า หาน(หาญ)พรหมสะท้าน ไว้สั้น ๆ ว่าเป็น อุปนิกขิต (สายลับ) ไปเป็นไส้ศึกในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งการนี้ต้องอาศัยคนที่มีวิชาเอาตัวรอดได้สูง ในขณะเดียวกันทางเชียงใหม่ก็ส่งสายลับนามว่า หานไสสูง มายังอยุธยาเช่นกัน สงครามจราชนนี้เป็น tactic ที่ทางล้านนาชอบใช้มาก
เช่นเดียวกับในสมัยพญามังรายที่ส่งอ้ายฟ้าไปเป็นอุปนิกขิตในเมืองลำพูน แรก ๆ
พระเจ้าติโลกราชก็หลงกลหานพรหมสะท้าน โค่นต้นนิโครธ ซึ่งเป็นไม้มงคลหลักเมือง
แต่ต่อมาก็จับได้ แล้วให้โกนหัวปล่อยตัวกลับอยุธยา
เพื่อให้ไปปล่อยข่าวลวงอีกต่อหนึ่ง หลังจากนั้นชื่อของ หานพรหมสะท้าน
ก็ไม่ถูกกล่าวถึงอีกเลย
หานพรหมสะท้านจะกลับมาอยุธยาแล้วโม้ว่าอะไรเราก็ไม่ทราบได้ เพราะไม่ได้มีบันทึกไว้ แต่เป็นไปได้ที่ชาวบ้านจะร่ำลือถึงความเก่งกาจที่รอดชีวิตมาได้จนกลายเป็นเรื่องเล่าประเภท folk
hero ต่อมาอีกหลายปี
จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องราวของขุนแผนในที่สุด สุจิตต์ วงษ์เทศเคยเสนอว่า คำว่า
ขุนแผน ในโองการแช่งน้ำนั้นหมายถึง พระพรหม ดังนั้นคำว่า พรหมสะท้าน
อาจเป็นคำเดียวกับ แผนสะท้าน ก็ได้ แต่ทางล้านนาเรียก หาน (หาญ) ในขณะที่ทางอยุธยากล่าวว่ามียศเป็น
ขุน ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงในสมัยอยุธยาตอนต้น
สมมติว่าพฤติการณ์ของขุนแผนที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์เป็นดังที่กล่าวมานี้ แล้วเรื่องรักสามเส้ากับขุนช้างมาจากไหน ผู้เขียนค่อนข้างเชื่อว่าเนื้อหาส่วนนี้เป็นการแต่งเติมขึ้นมา เพราะโดยทั่วไป historical figure ที่กลายมาเป็น folk hero มักจะเป็นที่รู้จักก็ตอนสร้างวีรกรรมจนเกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา
ก่อนหน้านั้นเขาเป็นใคร มาจากไหน อาจไม่เป็นที่รับรู้ เมื่อชาวบ้านคาใจกับความเป็น
hero
กึ่งสำเร็จรูป
จึงต้องมีคำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติช่วงต้นขึ้นมาว่าเป็นลูกใคร เกิดที่ไหน
เมียชื่ออะไร เคยทำอะไรมาบ้าง ซึ่งอาจมีทั้งเรื่องจริงและไม่จริงปะปนกัน
เช่นเดียวกับกรณีพระราชประวัติพระเจ้าตากสิน
ในคำให้การชาวกรุงเก่า สมเด็จพระพันวสาที่กล่าวถึงอาจเป็น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระบรมราชาที่ 3 พระรามาธิบดีที่ 2 หรือพระบรมราชาที่ 4 ก็ได้ทั้งนั้น
เพราะจากเรื่องพระเจ้าอู่ทองก็กระโดดมาถึงพระพันวสาทันที กล่าวเพียงสั้น ๆ
ว่าสืบเชื้อสายต่อ ๆ กันมาโดยไม่ระบุนามกษัตริย์ จากนั้นเป็นเรื่องพระปรเมศวร
ซึ่งน่าจะหมายถึง สมเด็จพระไชยราชา เพราะกล่าวว่ามีมเหสีคือ ท้าวศรีสุดาจันทร์
เป็นชู้กับขุนชินราช (ขุนวรวงศาธิราช)
ขุนแผนในคำให้การชาวกรุงเก่าติดคุกด้วยเหตุใดไม่ได้บอกไว้ อันนี้น่าคิดว่า
อาจเป็นคดีชายชู้ ซึ่งเป็นเค้าโครงของเรื่องรักสามเส้าหรือไม่
หากเป็นดังนี้ก็หมายความว่า เรื่องรักสามเส้าทำหน้าที่เป็น “มูลเหตุ”
ที่ขุนแผนต้องติดคุก ก่อนพ้นโทษออกมาแสดงวีรกรรมด้วยการไปเป็นสายลับในเชียงใหม่
ซึ่งเป็น “แกนเรื่อง” ที่แท้จริงในนิทานขุนช้างขุนแผนก็เป็นได้
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานในขณะนี้เท่านั้น ยังต้องศึกษากันต่อไป
---------------------------------------------
Bibliography
- กรมศิลปากร (2493). เสภา ขุนช้างขุนแผน. กรงเทพฯ:
โรงพิมพ์คุรุสภา.
- กรมศิลปากร (ตรวจสอบชำระใหม่). (2507). เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ภาคปลาย
(พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเชื้อ ชลธารวินิจฉัย). กรุงเทพฯ: กรมศิลากร.
- Baker, Chris. พงษ์ไพจิตร, ผาสุก (บรรณาธิการ). (2556). ขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ.
เชียงใหม่: Silkworm.
- หอพระสมุดวชิรญาน (2468). คำให้การชาวกรุงเก่า
แปลจากฉบับหลวงที่ได้มาจากเมืองพม่า (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
คุณหญิงเสนีย์ณรงค์ฤทธิ์ (ทองย้อย สนิทวงศ์ ณ กรุงเทพ). กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒนากร.
- คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
(ปริวรรตและตรวจสอบชำระต้นฉบับ). (2538). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่: มิ่งเมือง.
Comments
Post a Comment