บู๊เฮียบไม่เคยตาย: ว่าด้วยแก่นแท้ของนิยายกำลังภายใน และการว่ายทวนกระแสในโลกวรรณกรรม
บู๊เฮียบไม่ใช่แค่นิยายจีนต่อสู้ แต่เป็นวรรณกรรมจริยธรรมของสามัญชน บทความนี้ชวนค้นหาว่า ในม่านหมอกควัน เราจะยืนหยัดเป็นผู้กล้าหรือปล่อยตัวเป็นฝูงปลา
เชื่อว่าหลายคนทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ตั้งแต่ Boomer ไปถึง Gen Z แทบไม่มีใครไม่รู้จัก นิยายกำลังภายใน หรืออย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยิน บ้างก็รู้จักจากสื่อประเภทอื่น เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ ม่านฮว่า ฯลฯ ซึ่งมีมากมายหลายแนวจนหลายคนเรียกรวมกันแบบบ้าน ๆ ว่า “นิยายจีน”
อันที่จริงคำว่า นิยายกำลังภายใน
ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ เป็นศัพท์บัญญัติโดยนักแปลยุคบุกเบิกคือ จำลอง พิศนาคะ
ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีหมายถึง นิยายบู๊เฮียบ (อู่เสียเสี่ยวซัว 武俠小說) นักเขียนยุคบุกเบิกได้ให้นิยามของนิยายบู๊เฮียบไว้อย่างเรียบง่ายคือ
ต้องมีบู๊ (武 การต่อสู้) และต้องมีเฮียบ (俠 วีรชน) กล่าวคือ
เป็นเรื่องราวว่าด้วยการต่อสู้ของผู้กล้า จึงมีอีกคำที่น่าจะตรงตัวที่สุดคือ นิยายจอมยุทธ์
แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้กันเท่า นิยายกำลังภายใน
ก่อนอื่นเรามารู้จักความเป็นมาของนิยายบู๊เฮียบกันเล็กน้อย
หลายคนอาจเข้าใจว่าจุดเริ่มต้นของนิยายประเภทนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่
หลังพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศจีน แต่ความจริงแล้วมันมีรากเหง้ามายาวนาน
ย้อนไปไกลได้ถึงสองพันกว่าปีในสมัยชุนชิว (ราว 770-481 ปีก่อน ค.ศ.)
จากเรื่องเล่าประเภท folklore กล่าวถึงพฤติการณ์ของเหล่า จอมยุทธ์พเนจร
(โหยวเสีย 遊俠) เช่น จวนจู (專諸)
ผู้ลอบสังหารอู๋อ๋องเหลียว จิงเคอ (荊軻) ผู้(พยายาม)ลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้
รวมทั้งเรื่องราวการผจญภัยก่อนมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของบุคคลทีมีชื่อเสียงอีกหลายคนในยุคต่อมา
เช่น ฮวามู่หลาน (花木蘭) ซิยินกุ้ย (เซวียเยิ่นกุ้ย 薛仁貴) งักฮุย
(เยว่เฟย 岳飛) ฯลฯ โดยมีทั้งเรื่องเล่าปากเปล่า (oral
tradition) การแสดงนาฏกรรม และงานเขียนมุขปาฐะ
จนกระทั่งในสมัยปลายราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง
งานวรรณกรรมซึ่งมีรากฐานมายาวนานอยู่แล้วก็ยิ่งเฟื่องฟูขึ้นไปอีกจากนวัตกรรมการพิมพ์
และผลงานที่เรียกได้ว่าเป็นปฐมบทของนิยายบู๊เฮียบก็ได้ถือกำเนิดขึ้น คือเรื่อง ซ้องกั๋ง
(สุยหู่จ้วน 水滸傳) ประพันธ์โดย ซือไน่อัน (施耐庵)
ซึ่งกระแสหลักเชื่อกันว่าเป็นอาจารย์ของ หลัวกว้านจง (羅貫中)
ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้ 三國演義)
เป็นเรื่องราวของเหล่าจอมยุทธ์ทั้ง 108 ผู้ถูกผลักไสจากสังคมอันฉ้อฉล
เพราะขุนนางกังฉินครองเมือง จนต้องไปรวมตัวกันเป็นโจรบนเขาเหลียงซาน
เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมจีนคลาสสิคที่ผู้เขียนชื่นชอบมากที่สุด
จะขอกล่าวถึงโดยละเอียดในบทความอื่น ๆ อีกครั้ง
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง นิยายบู๊เฮียบยุคบุกเบิกก็เริ่มตั้งไข่
ได้แก่ เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม (ซานเสียอู่อี้ 三俠五義) และ ยอดยุทธ์เยาวมาลย์
(เอ๋อหนี่ว์อิงสงจ้วน 兒女英雄傳) เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่
20 เป็นต้นมา อิทธิพลของวรรณกรรมและปรัชญาตะวันตกเริ่มแพร่หลายในหมู่ปัญญาชน ลัทธิปัจเจกนิยมมีบทบาทสำคัญต่อค่านิยมเชิดชูวีรชนประเภท
“จอมยุทธ์” มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่องานวรรณกรรมจีนในยุคนั้น และนิยายบู๊เฮียบที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องแรกคือ
เจียงหูฉีเสียจ้วน (江湖奇俠傳) ประพันธ์โดย ผิงเจียงปู้เซี่ยวเซิง (平江不肖生)
ก็ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1923 จากนั้นก็มีนักเขียนแนวเดียวกันปรากฏขึ้นอีกหลายคน
นี่คือ Dawn of
Wuxia Novels อย่างแท้จริง
จากนั้นก็เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของนิยายบู๊เฮียบนำโดยผลงานของ กิมย้ง (จินยง 金庸) และ เนี่ยอู้เซ็ง (เหลียงอวี่เซิง 梁羽生) ซึ่งนักอ่านทั้งหลายคงรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ตามด้วยยุคสมัยของ โกวเล้ง (กู่หลง 古龍) และ 10 สุดยอดนักเขียนแห่งไต้หวัน อุนสุยอัน (เวินยุ่ยอัน 溫瑞安) และหวงอี้ (黃易) ความนิยมของนิยายบู๊เฮียบไม่ได้จำกัดแค่ในแวดวงวรรณกรรม แต่ยังส่งต่อไปถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ วิดีโอเกม และสื่อร่วมสมัยอื่น ๆ ทั้งในและนอกประเทศจีน กล่าวได้ว่า ที่ใดมีชาวจีนโพ้นทะเล ที่นั่นมีคนอ่านนิยายบู๊เฮียบ โดยเฉพาะในเอเชียอาคเนย์ คนไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไม่ว่ามีเชื้อสายจีนหรือไม่ ต่างก็รู้จักนิยายบู๊เฮียบเป็นอย่างดี
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล
การเขียนนิยายไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในรูปแบบหนังสือ หรือลงรายตอนในนิตยสารรายสัปดาห์
นิยายจีนกลายเป็นกระแสหลักที่หลายแพลตฟอร์มต้องมี ไม่ว่าจะเป็นสายหวาน สายวาย
สายต่างโลก (isekai)
สืบสวน หรือแม้แต่โลกคู่ขนานในร้านคาเฟ่สไตล์จีนโบราณ บ่อยครั้งนักอ่านหน้าใหม่มักเข้าใจว่า
นิยายจีน = กำลังภายใน ทั้งที่จริงแล้ว นิยายจีนนั้นมีมากมายหลายแนว ส่วนบู๊เฮียบแบบดั้งเดิมค่อย
ๆ เฟดหายไปจากความนิยมของผู้คน
โดยมีแนวอื่นเข้ามายึดครองพื้นที่ในสื่อกระแสหลักแทน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง
เพราะคุณค่าของนิยายประเภทนี้ไม่ได้มีแค่ความสนุกตื่นเต้นของการต่อสู้
แต่มันสะท้อนโลกทัศน์ กล่าวถึง “สามัญชน” คนธรรมดาที่ไม่สามารถเหาะเหินเดินอากาศ
แต่สามารถฟันหินได้ดุจฟันเต้าหู้ ยืนหยัดในความถูกต้อง แม้จะอยู่ในสังคมแสนโสมม
รวมทั้งให้แง่คิดเชิงปรัชญา ว่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ ทั้งความรัก
ความแค้น ปณิธาน และอื่น ๆ อีกมากมาย
ในขณะเดียวกัน ความหมายของ กังโอ้ว (เจียงหู 江湖) และ บู๊ลิ้ม
(อู่หลิน 武林)
ซึ่งในสำนวนไทยแปลไว้ว่า ยุทธจักร หรือ ยุทธภาพ ก็ค่อย ๆ
ถูกบิดจนผิดเพี้ยนกลายเป็นโลกสมมติที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งที่จริงก็หมายถึง
โลกกว้างท่ามกลางธรรมชาติอันประกอบด้วยแม่น้ำและทะเลสาบ
ซึ่งเต็มไปด้วยการต่อสู้ของเหล่าคนเดินทาง คำว่า 林
โดยทั่วไปแปลว่า ป่า แต่ในบางบริบทหมายถึง สถานที่ซึ่งชุกชุมไปด้วยสิ่งหนึ่ง 武林
จึงหมายถึง สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยผู้รู้วิชาบู๊ (การต่อสู้)
ซึ่งก็อยู่ในโลกกว้างฮั้นแล
นิยายจีนแนวอื่นที่มักถูกเข้าใจผิดและจัดอยู่ในหมวดกำลังภายใน (บู๊เฮียบ) ได้แก่
- นิยายเทพยุทธ์ หรือ เซียนเสีย (仙俠) มีกลิ่นอายของแฟนตาซี ผสมความเชื่อลัทธิเต๋าหรือพุทธ ตัวเอกมักบำเพ็ญตนฝึกฝนวิชาเพื่อบรรลุเป็นเซียน บ้างก็สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ มักมีสัตว์ในตำนานหรือภูตผีปีศาจปรากฏอยู่ด้วย แนวนี้เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน จนหลายคนสับสนว่านิยายจีนต้องเป็นลักษณะนี้เท่านั้น โดยมีต้นกำเนิดมายาวนานไม่แพ้นิยายบู๊เฮียบ จากปกรณัมในยุคจ้านกั๋ว (ราว 475-221 ปีก่อน ค.ศ.) เช่น ซานไห่จิง (山海经) ถึง เทพยุทธ์เขาสู่ซาน (สู่ซานเจี้ยนเสียจ้วน 蜀山劍俠傳) ประพันธ์โดย หวนจูโหลวจู่ (還珠樓主) ในปี ค.ศ. 1932 ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีจัดอยู่ในแนวบู๊เฮียบ แต่ด้วยองค์ประกอบที่แตกต่างกับผลงานอื่น ๆ และมีลักษณะดังที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของนิยายเซียนเสียในยุคต่อมา
- นิยายแฟนตาซี หรือ เสวียนฮ่วน (玄幻) พัฒนาต่อยอดมาจากแนวเซียนเสีย แต่เป็นโลกแฟนตาซีเต็มรูปแบบ ไม่ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ ความเป็นจริง หรือวัฒนธรรมจีนก็ได้
- Boy’s Love หรือ ตันเหม่ย (耽美) เรื่องราวความรัก-มิตรภาพระหว่างผู้ชาย ในบรรยากาศจีนโบราณหรือโลกของเซียนเสีย พัฒนามาจากนิยายหรือมังงะแนว Yaoi ของญี่ปุ่น ตัวอย่างผลงานที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ปรมาจารย์ลัทธิมาร (หมอเต้าจู่ซือ 魔道祖師) ประพันธ์โดย ม่อเซียงถงโช่ว (墨香銅臭)
- นิยายสืบสวนสอบสวน หรือ กงอั้น (公案) ก่อนโลกจะรู้จักยอดนักสืบอย่าง เชอร์ล็อค โฮล์ม หรือ เฮอร์คูล ปัวโรต์ ชาวจีนรู้จัก เปาบุ้นจิ้น หรือ เปาชิงเทียน (包青天) ในรูปแบบวรรณกรรมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงแล้ว จากนิยายสืบสวนชุด เปาหลงถูพ่านไป่เจีย (包龍圖判百家公案) ของสำนักพิมพ์อวี่พ่านถัง (與畔堂) และชุดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับท่านเปาอีกมากมาย ต่อมาในปี ค.ศ. 1949 Rober van Gulik นักเขียนชาวดัตช์ผู้หลงใหลวัฒนธรรมตะวันออกพบต้นฉบับ ตี๋กงอั้น (狄公案) ซึ่งเขียนขึ้นราวศตวรรษที่ 18 เป็นเรื่องราวของ ตี๋เหยินเจี๋ย (狄仁傑) กับการพิจารณาคดีในสมัยราชวงศ์ถัง จึงนำมาเขียนเป็นนิยายชุดของตัวเอง กลายเป็นต้นแบบนิยายสืบสวนในบรรยากาศจีนโบราณต่อมา
นอกจากนี้ยังมี sub-genre อื่น ๆ อีกมาก เนื้อหาว่าด้วยการย้อนเวลา
ข้ามมิติไปต่างโลก ความรักในราชสำนัก ไปจนถึงวิถีพอเพียง ปลูกผักสร้างบ้าน
ซึ่งมีการลอกเลียนพล็อตกันอย่างกว้างขวางจนแทบหาไม่เจอว่า original idea มาจากเรื่องไหน ซึ่งในความหลากหลายนี้ มีปรากฏการณ์ที่น่าตกใจก็คือ เรากำลังเสพทุกอย่างโดยไม่รู้ว่ากำลังเสพอะไรไปตามกระแส
เหมือนฝูงปลาที่ใครโปรยอาหารไปทางไหนก็เฮโลกันไปทางนั้น
โดยไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้ เพียงเพราะมันถูกเสิร์ฟมาวางตรงหน้าอยู่ทุกวัน
นี่เองที่เรียกว่า อุปาทานหมู่ (massive hysteria) ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรกังวล โดยเฉพาะในโลกของวรรณกรรมและการสร้างสรรค์ ถ้าเราไม่เคยตั้งคำถามว่า
สิ่งที่กำลังอินอยู่ มันคืออะไรกันแน่ เราก็อาจสูญเสียสติปัญญาอันพึงมีตามศักยภาพของมนุษย์
ไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ เหมือนท่อน intro เพลง
Stupify ของ Disturbed ที่ว่า
Yeah, bringing you another disturbing
creation, from the mind of one sick animal who can't tell the difference, and
gets stupefied.
เมื่อการรับรู้ของเราถูกปั่นป่วน
ความเข้าใจเรื่องแนวทางของนิยายจีนก็ยิ่งสับสนขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้ง
เราก็ไม่อาจแยกได้ว่าอะไรกำลังพาเราไปสัมผัสกับความเป็นมนุษย์
อะไรพาเราไปติดกับวังวนของ mass production ที่เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นสูตรสำเร็จ
และนี่เองที่เป็นแรงผลักดันให้ผู้เขียนรังสรรค์นิยายเรื่อง
ภูตหมอกควัน (煙鬼英雄傳) หรือ Smoking Hero ขึ้นมา เพื่อปลุกจิตวิญญาณของบู๊เฮียบในตัวนักอ่านขึ้นมาอีกครั้ง
แต่อาจไม่ได้เดินตามรอยแบบดั้งเดิม เป็นการผสมผสานกับประวัติศาสตร์กับบู๊ลิ้มในบรรยากาศแปลกใหม่
เรื่องราวไม่ได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินจีน แต่เป็นกรุงศรีอยุธยาและเอเชียอาคเนย์
ผู้อ่านบางท่านอาจรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ไม่คุ้นเคย หรือไม่เข้าใจว่านิยายบู๊เฮียบสามารถเล่าในลักษณะนี้ได้ด้วย
แต่หากเข้าใจแก่นแท้ของนิยายบู๊เฮียบดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น
รวมทั้งไม่ยึดติดกับภาพที่ว่าบู๊เฮียบต้องเป็นวัฒนธรรมจีนเท่านั้น แล้วลองเปิดใจอ่านดู
จะพบเองว่าเรื่องราวมีความลงตัว สมเหตุสมผลหรือไม่ ผู้เขียนบอกกล่าวแนวคิด
หลักการและเหตุผลของนิยายเรื่องนี้ไว้ในคำนำแล้ว แม้ไม่ใช่ผลงานที่ดีเลิศ
แนบเนียนดุจภูษาฟ้าไร้ตะเข็บ อย่างนิยายของกิมย้ง แต่อย่างน้อยก็กล้ารับประกันว่าไม่ขี้หมูขี้หมา
ใช้ภาษาเหมือนเด็กมัธยมสอบตก หรือใช้ข้อมูลเลื่อนลอยไร้หลักฐานอ้างอิง
เชิญสัมผัส ภูตหมอกควัน ฉบับ e-book ด้วยตัวเองได้ที่
https://zayplaystudio.com/shop_en.html
นอกจาก ภูตหมอกควัน
ผู้เขียนยังมีความคิดที่จะเขียนนิยายบู๊เฮียบลักษณะนี้ออกมาอีกหลายเรื่องในภายหน้า
ถ้าเรามองให้ลึกลงไปในประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ จะพบว่ามี “เรื่องเล่าแห่งยุทธจักร”
ในแบบของตัวเองอยู่มากมาย มาจากตำนาน พงศาวดาร นิทานพื้นบ้าน เรื่องราวของสงคราม กบฏไพร่
อุดมการณ์ปลดแอกจากอำนาจผู้ปกครอง
ที่ไม่ต้องอิงอภินิหารหรือดึงเรื่องไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งหมดล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีของนิยายบู๊เฮียบ เพราะความกล้าหาญ มิตรภาพ เกียรติและศักดิ์ศรีของนักสู้
มีอยู่ในทุกวัฒนธรรม
บู๊เฮียบ ไม่เคยตาย เพียงแต่กำลังรอการเล่าเรื่องในมุมมองใหม่ให้โลกฟังเท่านั้น
มารอาคเนย์ 南洋邪
Comments
Post a Comment