จาก “วาจาสิทธิ์” ถึง “ล้มไพร่” ศึกแห่งความหมายในสนามวาทกรรมของ “ภูตหมอกควัน”
วิเคราะห์บทสนทนาใน ภูตหมอกควัน ว่าด้วยการฟาดฟันทางอุดมการณ์ เสรีภาพ อำนาจ และศีลธรรม ใครนิยาม “ความจริง” วรรณกรรมสะท้อนโลกอย่างไร?
ใครที่เคยอ่านผลงานของโกวเล้ง คงคุ้นเคยกับประโยคทำนองที่ว่า “ยอดฝีมือชิงชัย แพ้ชนะตัดสินในพริบตา” หรือ “ในมือมีดาบ ในวาจาก็มีดาบ” ผู้เขียนก็เป็นสาวกโกวเล้งคนหนึ่ง จึงได้รับอิทธิพลมาไม่น้อย และมีเรื่องแปลกอยู่อย่างคือ เวลาดูฉาก action ในหนังที่ลากยาวเกินไป มักจะหลับทุกที นี่คือความย้อนแย้งของคนที่อยากเขียนเรื่องบู๊ แต่ไม่ได้ชอบหรือหมกมุ่นกับบทบู๊ เพราะบู๊เฮียบไม่ใช่แค่เรื่องราวการต่อสู้ ประลองกระบวนท่า หาวิธีสยบคู่ต่อสู้ กว่าจะรู้ก็ยืดเยื้อยาวนานหลายตอนแบบการ์ตูนโชเน็น แต่เป็น “การประลองทางความคิด”
แรกเริ่มเดิมที ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจเขียน “ภูตหมอกควัน” ให้เป็นนิยายการเมืองจ๋า
แต่ก็มีความคิดที่อยากถ่ายทอดอยู่แล้วบ้างเป็นธรรมดา และการสร้างตัวละครให้มีมิติ
มีชีวิต ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีจุดยืน ผ่านการแสดงออก ทั้งการกระทำ ความคิด
และคำพูด ยิ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับความเป็นความตาย ความคิดอ่านของตัวละครย่อมไม่ได้มีแต่เรื่องฟีลกู๊ด
วันนี้จะกินอะไร มีเวลาเล่นกับแมวไหม คืนนี้ไปซั่มกับใครดี ฯลฯ
บทความนี้จะชวนผู้อ่านไปสัมผัสกับ “การชิงชัยด้วยวาจา” ที่เข้มข้นไม่แพ้บทบู๊ตระการตา
จากตัวอย่างบทสนทนาในภูตหมอกควันตอนที่ 35 และ 38 พร้อมชำแหละที่มาของแนวคิด
เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาววรรณกรรม ถ้าพร้อมแล้ว ไปลุยกันเลย!
------------------------------
เลิศสอดส่ายสายตาไปรอบด้านด้วยท่าทีสงบแล้วกล่าวถาม
“พวกท่านคุ้มพระพรหมเคยสำนึกเสียใจบ้างหรือไม่?”
“สำนึกเสียใจอันใด?”
ท้าวมาลีวราชเลิกคิ้ว
เลิศกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“พวกท่านเสียทีมีอำนาจทั้งในราชการและวงพวกนักเลง
กลับมิได้เห็นแก่ราษฎร แอบอ้างเบื้องสูง ใช้อิทธิพลข่มเหงรังแกผู้คน กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน
ยังกล้าเรียกหาตัวเองเป็นคนดีมีศีลธรรม!”
“หมู่ตึกอิสราคบหาต่างชาติหวังชักศึกเข้าบ้าน
ปลุกปั่นยุยงราษฎร สร้างความเกลียดชังต่อต้านราชสำนัก ลบหลู่เบื้องสูง ต้องทำเช่นนี้จึงเรียกว่ามีคุณธรรม!?”
“ท่านย่อมมิเข้าใจ เพราะขาดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์
คนเรามีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน แต่กลับมีต้นทุนไม่เท่ากัน คนที่มีมากกว่าสมควรหยิบยื่นน้ำใจ
มิใช่เหยียบย่ำซ้ำเติมเอารัดเอาเปรียบ!”
ท้าวมาลีวราชพลันรู้สึกหัวเราะมิออกร้องไห้มิได้
มันเกิดเป็นไพร่ในบ้านนอกคอกนา ขณะที่เลิศเติบโตมาบนกองเงินกองทอง ผู้ใดสมควรเข้าใจหัวอกชนชั้นล่างมากกว่ากันแน่
แต่มันมิเคยเห็นด้วยกับความเท่าเทียม มันเชื่อว่าคนเราต้องใช้สติปัญญาแลกำลังความสามารถไขว่คว้าสิ่งที่ปรารถนามาด้วยตัวเอง
ผู้ที่อ่อนแอคิดแต่จะแบมือขอไม่สมควรได้รับรางวัลตอบแทนอันใด ในหมู่คนยากไร้มีคนจำพวกนี้อยู่มาก
ปากร่ำร้องสองมือไม่ขยับ ไหนเลยบังเกิดความเห็นใจ ไม่คิดรังเกียจเดียดฉันท์ได้ หลังจากเงียบงันอยู่ครึ่งค่อนคืนจึงกล่าวถามเลิศ
“ทราบหรือไม่ ปัญหาของเจ้าอยู่ที่ใด?”
เลิศนิ่งสงบมิตอบคำ ท้าวมาลีวราชจึงกล่าวต่อ
“เจ้าไม่ยอมรับความแตกต่างของสรรพสิ่ง
จึงแยกแยะผิดชอบชั่วดีไม่กระจ่าง!”
“สิ่งที่ผิดในวันนี้ อาจมิได้ผิดกระไรในวันหน้า
เรื่องปกติสามัญในวันนี้ อาจมิใช่เรื่องสมควรกระทำในวันหน้าเช่นเดียวกัน ผู้คนล้วนถูกตีกรอบด้วยโลกทัศน์อันคับแคบ!”
ท้าวมาลีวราชส่ายหน้าช้า ๆ
“สิ่งที่ผิดย่อมผิดอยู่วันยังค่ำ
จะอีกกี่ร้อยกี่พันปี ความลวงก็ไม่มีวันเป็นความจริง!”
เลิศแค่นหัวเราะพลางกล่าว
“น่าขำ! วาจาสิทธิ์ของท่านกลับเท็จให้เป็นจริงได้ ยังมีอันใดเป็นไปมิได้!”
- จาก ภูตหมอกควัน ตอนที่ 35 วาจาสิทธิ์
------------------------------
ฉากนี้เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง
เลิศ ผู้นำหมู่ตึกอิสรา กับ ท้าวมาลีวราช ผู้นำคุ้มพระพรหม
ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการถกเถียงเรื่องการปกครอง แต่ยังสะท้อน “มุมมองทางศีลธรรม”
และ “ปมในใจ” ของแต่ละฝ่าย เชื่อว่าผู้อ่านบางท่าน ถึงไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้
ก็พอเดาออกว่าตัวละครมีพื้นเพความเป็นมาอย่างไร
เลิศ เป็นตัวแทนของอุดมคติแบบเสรีนิยม ยึดมั่นในเสรีภาพ ความเท่าเทียม
และเสียงของสามัญชน (จริงรึเปล่า ต้องลองอ่านดู) มีทั้งความกล้าแสดงออก
และภาวะผู้นำแบบนักคิด ซึ่งทัศนะคติแบบกลับด้านนี้ (มาจากกองเงินกองทอง
แต่เรียกร้องสิทธิให้ผู้อื่น) มีทฤษฎีทางจิตวิทยารองรับ เรามักพบเห็นได้ในกลุ่มนักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้า
และประโยคที่ว่า “สิ่งที่ผิดในวันนี้ อาจมิได้ผิดกระไรในวันหน้า” สะท้อนแนวคิด constructivism ที่มองว่า
ศีลธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้ (relative morality)
ท้าวมาลีวราช เป็นชนชั้นแรงงานอนุรักษนิยมที่กร้านโลก ผ่านความยากลำบาก ดิ้นรนด้วยตัวเอง
จึงไม่ศรัทธาในระบบที่ให้โอกาสทุกคนเท่ากันอย่างไร้เงื่อนไข เขาเชื่อใน meritocracy (พึ่งพาโอกาสและความสามารถ)
และความจริงถาวรบางประการที่มนุษย์ควรยอมรับ ดังประโยคที่ว่า “สิ่งที่ผิดย่อมผิดอยู่วันยังค่ำ”
คือการเชื่อว่ามี objective evil ที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามบริบท หรือเชื่อในศีลธรรมแบบ absolute morality แต่กระนั้น เลิศยังตอบโต้ด้วยประโยค
“วาจาสิทธิ์ของท่านกลับเท็จให้เป็นจริงได้” แสดงให้เห็นถึงความลักลั่นย้อนแย้งในตัวท้าวมาลีวราช
ที่อาศัยอำนาจเชิง performative ของชนชั้นนำ ตามแนวคิด regime of truth ของ Michel
Foucault พูดง่าย ๆ คือ ใครมีอำนาจมากพอก็สามารถนิยาม “ความจริง”
ได้นั่นเอง
การปะทะวาทกรรมของสองขั้วอุดมการณ์ยังมี rematch อีกครั้ง แต่เปลี่ยนคู่สนทนา ดังนี้
------------------------------
เลิศมิเคยหวั่นเกรงศัตรูเท่าครั้งนี้มาก่อน
ต้องลอบหลั่งเหงื่อกาฬพลางเอ่ยขึ้น
“อ้ายคนขี้ขลาด! ในที่สุดก็ปรากฏตัว!”
“หากเราเป็นคนขี้ขลาด ท่านก็เป็นคนขี้แพ้”
พิมเสนกล่าวตอบราบเรียบ ศึกครั้งนี้มันมีขุมกำลังเหนือกว่ามาก
ไยต้องลงมือเองให้เปลืองแรง นอกกำแพงยังมีเหล่าขุนนางกับทหารบางส่วนล้อมไว้อีกชั้น
ทว่ามันออกจะเสียดายอยู่บ้าง หากมิได้แวะมาสนทนากับศัตรูผู้ยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย
“พวกท่านหมู่ตึกอิสราเคยสำนึกเสียใจบ้างหรือไม่?”
เลิศงงงันวูบ นี่กลับเป็นคำถามเดียวกันที่มันเคยถามท้าวมาลีวราช
พิมเสนมิได้อยู่ด้วยในตอนนั้น หรือมันคิดข่มขวัญอันใด ต้องแค่นเสียงย้อนถาม
“สำนึกเสียใจอันใด?”
“พวกท่านเสียทีมีกิจการมั่งคั่งมากอิทธิพล
กลับสร้างข่าวลวงมอมเมาราษฎรให้หลงผิด คิดต่อต้านราชสำนัก ชักนำความวุ่นวายมาสู่แผ่นดิน
นี่หรือคือแนวทางตามหลักมนุษยธรรม?”
เลิศแค่นหัวร่อแล้วกล่าวตอบ
“ไยไม่ย้อนถามตัวเองว่าสภาพบ้านเมืองเช่นนี้มันดีแล้วหรือ
ชนชั้นสูงเพียงหยิบมือผูกขาดอำนาจ ชาติไพร่มิอาจโงหัวชั่วนาตาปี ผู้มีกำลังแลปัญญากลับยอมสยบต่อความอยุติธรรม
ซ้ำยังกดหัวคนเห็นต่าง ตีตราเป็นพวกชั่วช้า ไม่ฟังเสียงปวงประชา หากผู้ปกครองยังมีความคิดอ่านล้าหลังเช่นนี้
ไหนเลยนำพาบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยะประเทศได้”
“อ้อ ที่แท้ท่านห่วงใยบ้านเมืองถึงเพียงนี้?”
เลิศมิตอบกระไร พิมเสนกล่าวต่อไป
“ท่านอาจมีเจตนาบริสุทธิ์จริงดังว่า
ทว่าวิธีการกลับผิดเพี้ยน หากเรากระทำเลียนเยี่ยงท่าน หว่านล้อมผู้คนให้คล้อยตามแล้วแอบอ้างเป็นประชามติ
ท่านยินยอมพร้อมใจรับได้หรือไม่?”
“ราษฎรมิได้โง่เขลาปานนั้น!”
“มิผิด ด้วยเหตุนี้จึงมีคนอีกมากมิได้เห็นด้วยกับหมู่ตึกอิสรา
หากท่านชิงชังรังเกียจคนเหล่านั้น กีดกันเป็นพวกโง่เง่า มิเท่ากับกลืนน้ำลายตัวเอง?”
“สิ่งที่เรามุ่งหวัง อย่างน้อยราษฎรยังมีโอกาสได้ตัดสินใจเลือกผู้ปกครอง
มิใช่ถูกบังคับขู่เข็ญ”
พิมเสนส่ายหน้าช้า ๆ แล้วกล่าว
“เลือกได้หรือไม่ ชีวิตพวกมันก็ฝากฝังไว้ในมือผู้อื่นอยู่ดี
การเมืองเรื่องอำนาจล้วนเกี่ยวพันกับความนิยม ผู้คนโดยมากไม่ยอมรับว่าถูกชักนำ ซ้ำยังหลอกตัวเองว่ามีอิสระเสรี
ไหลไปตามกระแสโดยมิได้ตระหนักรู้ถึงสภาพความเป็นจริง”
“คนฉลาดล้ำเกินไปมักถูกลงโทษด้วยการถูกปกครองโดยคนโง่กว่า!”
“มิว่าโง่หรือฉลาด เราท่านล้วนตกอยู่ในวังวน
มิอาจหลุดพ้นถึงนิพพานไปได้”
เลิศสูดหายใจลึก แหงนหน้ามองฟ้าด้วยท่าทีหยิ่งทะนง
“โต้เถียงกับเจ้าไปก็มิได้กระไรขึ้นมา!”
พิมเสนพยักหน้ายิ้มเล็กน้อย
“ข้อนี้เราเห็นด้วย ลำพังวาจามิอาจฉุดรั้งท่านจากปากประตูนรก
เราได้แต่ส่งเสริมท่าน ผลักไสลงไปด้วยกำลังแล้ว!”
- จาก ภูตหมอกควัน ตอนที่ 38 ล้มไพร่
------------------------------
ฉากนี้เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง เลิศ กับ พิมเสน มือขวาของท้าวมาลีวราช
ในสถานการณ์ที่สปอยล์ไปในตัวบทแล้วว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น คำถามที่พิมเสนโยนกลับมาอย่างราบเรียบ กลับทิ่มแทงยิ่งกว่าอาวุธใด ๆ ไม่ใช่แค่คำเหน็บแนม
แต่เป็นการสะท้อนภาพกลับไปยังประโยคที่เลิศเคยถามท้าวมาลีวราช เพื่อพลิกฐานะ “ผู้กล่าวหา”
ในตอนก่อนหน้าให้เป็น “ผู้ถูกกล่าวหา” บ้าง
พิมเสน เป็นตัวละครที่มีความคิดอ่านลึกซึ้ง
ออกไปในเชิงปรัชญาการเมืองแบบ realpolitik เขาไม่ปฏิเสธว่า การเมืองคือเรื่องของอำนาจ ความนิยม และการควบคุม ส่วน เลิศ
ยืนกรานในหลักการของเสรีภาพและศักดิ์ศรี แต่พิมเสนก็ท้าทายแนวคิดนี้ด้วยการตอกย้ำว่า
“การเลือก” อาจเป็นแค่ภาพลวงตา สิทธิที่ปราศจากอำนาจต่อรอง ก็เป็นแค่สิทธิปลอม ๆ
เท่านั้น!
ทั้งสองฝ่ายไม่ใช่แค่ “ศัตรูในวงพวกนักเลง” แต่เป็นตัวแทนของ
ปรัชญาการเมืองที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ ดังประโยคที่ว่า “ลำพังวาจามิอาจฉุดรั้งท่านจากปากประตูนรก
เราได้แต่ส่งเสริมท่าน ผลักไสลงไปด้วยกำลังแล้ว!” ซึ่งไม่ใช่แค่การปิดฉากวาทกรรม
แต่เป็นประกาศศึก สะท้อนความจริงที่ว่า “มนุษย์มักคาดหวังให้การเมืองห้ำหั่นกันได้ด้วยอุดมคติ
แต่สุดท้ายก็เลือกตัดสินกันด้วยกำลังอำนาจทางกายภาพอยู่ดี”
ทั้งคุ้มพระพรหมและหมู่ตึกอิสรา ไม่มีฝ่ายใดดี-เลวโดยสิ้นเชิง
เพียงต่างอุดมการณ์เพราะใช้วิธีคิดคนละแบบ ซึ่งเป็นไปตาม concept "ม่านหมอกควันสีเทา" ของนิยายเรื่องนี้ บทสนทนาที่ยกมาเป็นตัวอย่างของการถกเถียงแบบ
dialectic คือการโน้มน้าวฝ่ายตรงข้าม โดยการพิสูจน์ว่าเหตุผลของตัวถูกต้อง
หรือพิสูจน์ว่าการให้เหตุผลของฝ่ายตรงข้ามนั้นผิด ซึ่งสุดท้ายอาจไม่ได้นำไปสู่ข้อสรุปอะไร
เลยต้องใช้กำลังห้ำหั่นกันตามประสาชนชาวนักเลงฮั้นแล
การเขียนบทสนทนาลักษณะนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้รับรู้มุมมองของทั้งสองฝ่าย
ไม่ถูกยัดเยียดความคิด ไม่ใช่เพื่อให้คนอ่านตัดสินว่าใครถูกผิด แต่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนมุมมองของผู้อ่านเอง
นี่แหละคือ “พลังของวรรณกรรม”
อันที่จริง ผู้เขียนก็ไม่ได้ตั้งใจอ้างอิงทฤษฎีทางปรัชญาตามที่ยกมาอะไรตั้งแต่แรก
แค่เขียนไปตาม logic ที่ควรจะเป็น ถ้อยคำบางคำมันผุดขึ้นมาในห้วงความคิด
จากสิ่งที่เราเคยรับรู้มาในโลกความเป็นจริง แล้วบังเอิญสอดคล้องกับธรรมชาติของตัวละครเท่านั้น
ผู้เขียนเชื่อว่า “การสร้างเรื่องราว”
ก็เหมือนการเล่นเกม Tetris ที่มีบล็อกอยู่หลายแบบ เราจะพลิกไปวางมุมไหนก็ได้
แต่ถ้าวางแล้วไม่ลงตัว มีช่องโหว่ มันก็พอกพูนไปเรื่อยจน "game over" เหมือนเรื่องราวที่แถไปเรื่อยโดยไม่มีการวางแผน ไม่กำหนด structure
ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดมาจากประโยคที่ชอบพูดกันในวงการหนังสือหรือภาพยนตร์ที่ว่า
“ทำให้คนอ่าน(หรือดู)รู้สึก มากกว่ารู้เรื่อง” ก็เลย improvise ไหลไปเรื่อย ซึ่งที่ถูกต้องคือ “ในฐานะผู้สร้าง เราทำงานด้วยความรู้
ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ ความรู้สึกเป็นเรื่องของผู้เสพ ซึ่งเรากำหนดผลลัพธ์แน่นอนตายตัวไม่ได้”
เสียใจด้วยที่ต้องบอกนักฝันทั้งหลายว่า “ไม่มีอะไรในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของคณิตศาสตร์-ฟิสิกส์”
นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของ clash ทางความคิดที่ไม่น่าจะประนีประนอมกันได้
หรือใครจะไฝว้ เข้ามาเลย!
บางครั้งผู้เขียนก็สงสัยว่า การที่คนเราชื่นชอบหนังสือเรื่องใดก็ตาม
เป็นเพราะเราเข้าถึงมันจริง หรือเพราะมันเป็นผลงานการันตีโดยนักเขียนชื่อดัง
แล้วเราก็ซื้ดอ่าส์ไปตามอุปาทานหมู่ ถ้าเป็นอย่างหลังก็รู้ไว้ได้เลยว่า “รสนิยมของเรากำลังถูกปั่นโดยใครบางคน”
นี่ไม่ใช่ conspiracy theory เพราะพลวัตทางสังคมไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยรัฐเสมอไป
อ่านบทความนี้จบแล้ว ขอเชิญชวนนักอ่านทั้งหลายสัมผัสกับ “ภูตหมอกควัน” ฉบับ e-book ด้วยตัวเองตาม link ด้านล่าง โดยเฉพาะใครที่สนใจเรื่องนิยายกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์ พ่วงประเด็นเรื่องอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ หรือศีลธรรมในโลกที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าอ่านแล้วมันบีบคั้นจิตใจ แปลว่าคุณเจอหนังสือที่ใช่ (แต่ถ้าใครอ่านเจอข้อความไม่ถูกจริต แล้วเกิดอาการคลื่นไส้ แหวะ! จ้วก! ก็สุดแท้แต่สติปัญญา)
Comments
Post a Comment