36 เทียนกังแห่งคุกหลวงอยุธยา

จากซ้องกั๋งถึงขุนแผน แรงบันดาลใจจาก 36 เทียนกังสู่ 36 นักโทษในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน มุมมองใหม่ในแง่นิยายบู๊เฮียบ ไม่ใช่แค่นิยายรักประโลมโลก




คอวรรณกรรมจีนย่อมรู้จักเรื่อง ซ้องกั๋ง หรือ 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน กันดีอยู่แล้ว ชื่อภาษาจีนคือ สุยหู่จ้วน (
水滸傳) แปลตรงตัวได้ว่า เรื่องปลายน้ำ หมายถึงการหลั่งไหลมารวมตัวกันของเหล่าผู้กล้า เหมือนสายน้ำหลั่งไหลมารวมกันที่เขาเหลียงซาน มันเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจไม่ทราบได้ ในเสภาขุนช้างขุนแผนก็มีตัวละครโจร 35 คน เป็นนักโทษอาญาถูกขังอยู่ในคุกหลวง ซึ่งต่อมากลายเป็นพรรคพวกของขุนแผนและเป็นกำลังสำคัญในศึกรบเชียงใหม่ อันนี้สายน้ำหลั่งไหลมารวมตัวกันในคุกว่างั้น

 

ก่อนอื่นขอพูดถึงวรรณกรรมเรื่อง สุยหู่จ้วน เป็นการเกริ่นนำคร่าว ๆ เรื่องนี้มีตัวละครเอกคือ ซ้องกั๋ง หรือ ซ่งเจียง (宋江) ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ร่วมกับพรรคพวก 35 คน (รวมเป็น 36) ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสือ กุ่ยซินจ๋าสือ (癸辛雜識) ที่เขียนโดยโจวมี่ (周密) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน ชื่อของซ่งเจียงและพี่น้องยังปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง (宋史 ซ่งสื่อ) ช่วงที่กล่าวถึงรัชสมัยของซ่งฮุ่ยจง (宋徽宗 1082 - 1135) และชีวประวัติของ จางซูเย่ (張叔夜) หรือ เตียกซกแม้ ซึ่งมีบทบาทอยู่ในวรรณกรรมด้วย โดยเป็นเจ้าเมืองเจ๋จิวฮู้ หรือ จี้โจว (濟州) ที่มีใจสนับสนุนผู้กล้าเขาเหลียงซาน แต่ในความเป็นจริง เขาคือคนที่จับตัวซ่งเจียงมาประหารได้ขณะเป็นเจ้าเมืองไห่โจว (海州) พฤติการณ์ของซ่งเจียงและพี่น้องได้กลายเป็น folktale เรื่องผู้กล้าเขาเหลียงซาน มีการแต่งเติมสีสันให้พวกเขาเป็น 108 ดวงดาวมาเกิด อันประกอบด้วย 36 ดาวสวรรค์ หรือ เทียนกัง (天罡) และ 72 มารพิภพ หรือ ตี้ซ่า (地煞)

 

ปัจจุบันตำบลเขาเหลียงซาน (สุ่ยป๋อเหลียงซาน 水泊梁山) อยู่ในเขตเหลียงซาน จังหวัดซานตง ภูเขาลูกนี้ตั้งชื่อตามนามเหลียงอ๋อง (梁王) หรือ หลิวอู่ (劉武) โอรสองค์ที่สองของฮั่นเหวินตี้ (漢文帝 202 - 157 BC) ซึ่งฝังพระศพไว้ที่นี่ มีอาณาเขตกว้างขวางรกร้าง ล้อมรอบด้วยแม่น้ำและบึงขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายเกาะ ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (960 - 1279) บริเวณแถบนี้ห่างไกลจากตัวเมือง รัฐบาลไม่สามารถสอดส่องดูแลทั่วถึง จึงมักมีโจรผู้ร้ายพากันมาหลบซ่อนหนีคดีและซ่องสุมกำลัง คอยดักปล้นชิงผู้เดินทางผ่าน โดยมากเป็นโจรคุณธรรม (義匪 อี้เฝ่ย) ปล้นคนรวยช่วยคนจน ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 รัฐบาลได้แก้ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุมด้วยการสร้างค่ายทหารขึ้นบริเวณเขาเหลียงซาน ต่อมาค่อยๆเติบโตจนกลายเป็นเมืองขนาดเล็กในปัจจุบัน ตัวบึงนั้นถูกถมและตื้นเขินไปหมดแล้ว

 

สำหรับผู้ประพันธ์วรรณกรรม สุยหู่จ้วน ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน บ้างเชื่อว่า วรรณกรรมฉบับร่างเป็นผลงานของซือไน่อัน (施耐庵) อาจารย์ของหลัวกว้านจง (羅貫中) ผู้ประพันธ์วรรณกรรมสามก๊ก (三國演義 ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) โดยซือเริ่มเขียนในสมัยปลายราชวงศ์หยวน และเรียบเรียงเป็นฉบับสมบูรณ์ในสมัยต้นราชวงศ์หมิงโดยหลัวกว้านจง เนื่องจากทั้งสองไม่มีชีวประวัติที่ชัดเจน บ้างจึงลงความเห็นว่า ทั้งสองเป็นคนเดียวกัน ช่วงแรกถึงตอนกลางแต่งโดยซือไน่อัน ช่วงหลังแต่งโดยหลัวกว้านจง อาจสังเกตได้จากช่วงท้ายเรื่องซึ่งมักเป็นการศึกขนาดใหญ่ และมีการกระจายบทบาทของตัวละครย่อยตามลักษณะการประพันธ์ของสามก๊กอย่างชัดเจน (หลัวกว้านจงเป็นคนที่ใช้ตัวละครเปลืองได้อย่างสมเหตุสมผลมาก สมดังคำกล่าว แผ่นดินกว้างใหญ่ไม่สิ้นไร้คนดีมีฝีมือ) อย่างไรก็ตามทฤษฎีสายนี้ยืนยันว่า สองอาจารย์-ศิษย์คู่นี้มีส่วนร่วมในการประพันธ์แน่นอน

 

สุยหู่จ้วน เวอร์ชั่นที่นิยมมีความยาว 120 บท ได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในสมัยราชวงศ์หมิงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 โดย หยางติ้งเจี้ยน (楊定見) เป็นผู้เรียบเรียง แต่เวอร์ชั่นที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษส่วนมากเป็น short version มีจำนวน 71 หรือ 100 บท ไม่มีรายละเอียดตอนปราบกบฏ เถียนหู่ หรือ ซันโฮ้ว (田虎) และ หวังชิ่ง หรือ อองเข่ง (王慶) ยังมีวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ที่ดัดแปลงหรือหยิบยกเนื้อหาบางตอนจากสุยหู่จ้วน เช่น จินผิงเหมย (金瓶梅) วรรณกรรมอีโรติก กล่าวถึงอู่ซงพิพากษาพานจินเหลียนพี่สะใภ้ และ สุยหู่โฮ่วจ้วน (水滸後傳) ซึ่งเป็นภาคต่อของสุยหู่จ้วน มีการเพิ่มเติมเนื้อหาต่อไปตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เช่น รุ่นลูกของเหล่าผู้กล้ารับศึกจินกั๋ว (กิมก๊ก 金國) หลี่จุ้น หรือ ลี้จุน (李俊) หนึ่งในผู้กล้าอพยพสู่สยามและได้เป็นกษัตริย์

 

สุยหู่จ้วนยังมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมยุคใหม่ โดยเฉพาะนวนิยายกำลังภายใน ผู้กล้าเขาเหลียงซาน เป็นต้นแบบหรือมีความเกี่ยวข้องกับของตัวละครในหลาย ๆเรื่อง เช่น ก๊วยเซาเทียน บิดาของก๊วยเจ๋งในเรื่องมังกรหยกของกิมย้ง สืบเชื้อสายมาจาก กัวเซิ่ง หรือ ก๊วยเส็ง (郭盛) ฉายาบัณฑิตมือวิเศษ ของจูชง หนึ่งในเจ็ดประหลาดกังหนำ มาจากฉายาของ เซียวย่าง หรือ เซียวเหยียง (蕭讓) และในตอนท้ายเรื่องมังกรหยกภาคสอง อึ้งเอี๊ยะซือนำกลยุทธ์เหลียนฮวนหม่าของ ฮูเหยียนจั๋ว หรือ  อูเอียนเจียก (呼延灼) มาประยุกต์ใช้ในการศึกกับมองโกลที่เมืองเซียงเอี๊ยง เซี่ยวลี้ปวยตอ มีดบินไม่พลาดเป้าของโกวเล้ง ดูเหมือนจะมีต้นแบบมาจาก มีดบินของ หลี่อิง หรือ ลิเอง (李應) ตัวละครยังแซ่หลี่เหมือนกันด้วย ผลงานของอุนสุยอันส่วนมากไม่ว่าจะเป็น กวีในดงดาบ ชุดสี่ยอดมือปราบ ชุดยอดศาสตราวุธ ฯลฯ ใช้ยุคราชวงศ์ซ่งเหนือเป็น historical background ตรงกับรัชสมัยซ่งฮุ่ยจง โดยมีเสนาบดี ไช่จิง หรือ ชัวเกีย (蔡京) รับบทเป็น antagonist คนสำคัญ และยังมีวรยุทธ์สูงส่งอีกด้วย

 

สำหรับสุยหู่จ้วนฉบับภาษาไทยนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้รับสั่งให้มีการแปลขึ้นในปี ค.ศ. 1867-8 แปลจากต้นฉบับ 120 บท เพราะมีเรื่องราวตอนปราบกบฏซันโฮ้วและอองเข่งอยู่ด้วย วรรณกรรมจีน (ซึ่งมักเข้าใจกันว่าเป็น พงศาวดาร) หลายเรื่องคงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ราษฎรมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ หรืออาจตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาแล้ว วรรณคดีไทยหลายเรื่องมีการสอดแทรกหรือนำเอาไอเดียจากวรรณกรรมจีนมาใช้ไม่น้อย ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ไว้ว่า สุนทรภู่ได้ไอเดียพระอภัยมณีมีวิชาเป่าปี่มาจากเรื่องไซ่ฮั่น ตอนเตียวเหลียงเป่าขลุ่ยทำลายขวัญทหารเมืองฌ้อ หรือดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่องคาวีบทหนึ่งว่า

 

...จะเข้าออกยอกย้อนผ่อนปรน

เล่ห์กลเรานี้อย่าวิตก

ทั้งพิชัยสงครามสามก๊ก

ได้เรียนไว้ในอกสาระพัด...

 

ดังนั้นจึงไม่แปลก หากกวีที่แต่งเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนจะได้แรงบันดาลใจเรื่องนักโทษทั้ง 35 คน (รวมขุนแผนด้วยเป็น 36 คน) มาจาก 36 เทียนกัง ในเรื่องซ้องกั๋ง ซึ่งปรากฏตัวในตอนที่ 27 เป็นต้นไป ในบทนี้ยังเผยรายชื่อไม่ครบทุกคน แต่ในตอนต่อ ๆ มาจึงสืบชื่อได้ครบทั้ง 35 ก่อนออกศึก เหล่านักโทษได้แสดงฝีมือต่อหน้าพระพันวสาเป็นการเรียกน้ำย่อย เป็นอรรถรสที่มีสีสันและสนุกสนานมาก ทำให้เราได้เห็นมิติของตัวละครแบบไพร่ ๆ ถ่อย ๆ และเป็นธรรมชาติ ขณะเดินทัพก็เมากัญชาน้ำตาเยิ้มกันเป็นนิจ ในเสภาให้รายละเอียดทั้ง 35 คนไว้ดังนี้

 

1. พุก

...ข้าพเจ้าอ้ายพุกอยู่ลุกแก

เมียชื่ออีแตพระเจ้าข้า

โทษปล้นให้รำระบำป่า

ให้อีมารำรื้อไปมือเดียว...

 

2. มี

...ถัดไปอ้ายมีบ้านยี่ล้น

เมียชื่ออีผลปล้นตาเขียว

แทงถูกอีชังกำลังเยี่ยว

ปากเบี้ยวล้มหงายน้ำลายฟด...

 

3. ปาน

...ถัดไปไอ้ปานบ้านชีหน

เมียชื่ออีสนปล้นบางปลากด

ผูกคอตาจ่ายกับยายรด

เอาไฟจดจุดขนหล่นร่วงไป...

 

4. จัน สามพันตึง

...ถัดนั้นอ้ายจันสามพันตึง

เมียชื่ออีอึ่งบ้านเหมืองใหม่

พวกปล้นขุนศรีวิชัย

เอาไม้เสียบก้นแกจนตาย...

 

...โห่ร้องฆ้องลั่นมาหึ่งหึ่ง

นายจันสามพันตึงเป็นกองหน้า...

 

สามพันตึง เป็นชื่อว่านชนิดหนึ่ง มีสรรพคุณใช้ทำยา และมีชื่อเสียงช่วยให้คงกระพันชาตรี หมอนี่เป็นอดีตลูกน้อง นายจันศร หัวหน้าโจรที่ฆ่า ขุนศรีวิชัย พ่อขุนช้างตาย ดูจะมีฝีมือเอกอุกว่าคนอื่น ๆ

 

5. คงเครา

...ถัดมาข้าชื่ออ้ายคงเครา

เมียชื่ออีเต่าบ้านหนองหวาย

ปล้นบ้านบางภาษีเมื่อปีกลาย

ได้ทรัพย์จับควายผูกต่างมา...

 

...นายคงเคราเข้านั่งบริกรรม

ให้เอาหอกกรอกตำเข้าจำเพาะ

ถูกตรงยอดอกไม่ฟกช้ำ

แทงซ้ำหลายทีที่เหมาะเหมาะ

เสียงอักอักพยักหน้านั่งหัวเราะ

จนด้ามหอกหักเดาะไม่ทานทน...

 

6. สีอาด

...ต่อมาข้านี้อ้ายสีอาด

เมียชื่ออีกงราดพระเจ้าข้า

คบไทยไล่ปล้นบ้านละว้า

แล้วเข่นฆ่าตาปานบ้านตาลเอน...

 

...นายสีอาดคลาศแคล้วแล้วไม่แตก

หอกซัดเจ็ดแบกพุ่งจนสิ้น

ไม่ถูกเพื่อนเชือนไถลไปปักดิน...

 

...กองหลังศรีอาจราชอาญา

พวกทหารสามสิบห้าต่างคลาไคล...

 

7. ทอง ช่องขวาก

...ถัดไปไอ้ทองอยู่ช่องขวาก

ผัวอีมากฆ่าลาวชื่อท้าวเสน

ขึ้นย่องเบาเอาบาตรผ้าพาดเณร

ทุบตาเถนแล้วซ้ำปล้ำหลวงชี...

 

...นายทองลองให้เอาปืนยิง

ยืนนิ่งคอยรับจับลูกตะกั่ว...

 

8. ช้างดำ

...ที่นั่งถัดไปไอ้ช้างดำ

อยู่บ้านถ้ำย่องเบาเจ้าภาษี

เก็บเงินทองของข้าวบรรดามี

ของดีดีไม่น้อยทั้งพลอยเพชร...

 

...นายช้างดำกำลังดังช้างสาร

ถวายบังคมคลานมาไม่พรั่น

กระโดดสูงสามวาตาเป็นมัน

แข็งขันข้อลำดำทมิฬ...

 

9. บัว หัวกะโหลก

...ถัดมาอ้ายบัวหัวกะโหลก

โทษปล้นชีโคกที่ปากเกร็ด

แล้วตีอ้ายดูกจมูกเฟ็ด

ฟันตาสายขายเป็ดบ้านตึกแดง...

 

...นายบัวหัวกะโหลกบ้านโคกขาม

ถวายบังคมงามแล้วออกหน้า

นอนหงายร่ายมนต์ภาวนา

ให้เอาขวานผ่าเป็นหลายซ้ำ

โปกโปกขวานกระดอนนอนพยัก

ไม่แตกหักลุกมาหน้าแดงก่ำ...

 

10. แตงโม

...ถัดมาข้าชื่ออ้ายแตงโม

เมียชื่ออีโตบ้านชุมแสง

ปล้นชีดักขนนขนพอแรง

ฆ่าขุนทิพแสงเจ้าทรัพย์ตาย...

 

...นายแตงโมทำโตได้เหมือนยักษ์

คึกคักกรอกตาดูหน้าย่น...

 

11. อิน เสือเหลือง

...อ้ายอินเสือเหลืองเมืองชัยนาท

เมียชื่ออีปาดบ้านขนาย

เที่ยวปล้นฆ่าคนสักร้อยปลาย

ลักควายแทงกินสิ้นเป็นเบือ...

 

...นายอินอึดใจแล้วหายตัว...

 

12. มอญ มือด่าง

...อ้ายมอญมือด่างบางโฉลง

เมียชื่ออีโค่งเป็นชาวเหนือ

ลักถ้วนลักถี่ทั้งตีเรือ

ครกกระบากสากกะเบือไล่เก็บครบ...

 

...นายมอญนอนเปลือยเอาเลื่อยชัก

เลื่อยหักฟันเยินพระเนินย่น

ให้เปลี่ยนหน้ามาเลื่อยก็หลายคน

เป็นหลายหนไม่เข้าเปล่าทั้งนั้น...

 

13. ทอง หนองฟูก

...ถัดไปไอ้ทองอยู่หนองฟูก

เมียชื่ออีดูกลูกตาจบ

กลางวันปิดเรือนเหมือนชะมบ

แต่พอพลบคนเดียวเที่ยวย่องเบา...

 

14. มาก สากเหล็ก

...อ้ายมากสากเหล็กปล้นเจ๊กกือ

เมียมันตาปรือชื่ออีเสา...

 

15. กุ้ง

...ถัดไปไอ้กุ้งคุ้งตะเภา

ฟันผัวแย่งอีเม้าเอาเป็นเมีย...

 

16. สง

...อ้ายสงผัวอีคงอยู่กงคอน

ตีชิงผ้าผ่อนฆ่ามอญเสีย...

 

17. กร่าง

...ถัดไปไอ้กร่างอยู่บางเหี้ย

หาเมียมิได้ไล่ตีเรือ...

 

18. กลิ้ง

...อ้ายกลิ้งผัวอีกลักดักขนน

ลักควายขายคนปล้นเรือเหนือ...

 

19. เภา

...อ้ายเภาผัวอีพานบ้านนาเกลือ

เอายาเบื่อหลวงโชฎึกเก็บตึกเตียน...

 

20. จั่ว

...อ้ายจั่วผัวอีปรางบางน้ำชน

ขึ้นย่องเบาหมื่นธนขนเอาเลี่ยน...

 

...นายจั่วหัวหูดูพิกล

เอาไฟลนทนได้ไฟวับวับ...

 

21. แมว

...อ้ายแมวผัวอีมาอยู่ท่าเกวียน

เข้าบ้านพิตเพียนปล้นปลอมริบ

พิจารณาเป็นสัตย์ซัดทอดฟ้อง

เก็บเอาข้าวของนางทองกระหมิบ...

 

22. มั่น

...ถัดไปอ้ายมั่นผัวอีจันทิพ

อยู่น้ำดิบปล้นตีหลวงชีเภา

หาได้แทงแกไม่ดังให้การ

นครบาลสอบแก้เป็นแผลเก่า...

 

23. จัน

...อ้ายจันผัวอีจานบ้านกะเพรา

โทษปล้นจีนเก๊าเผาโรงเจ๊ก

ยิงปืนปึงปังประดังโห่

แล้วเอาสันพร้าโต้ต่อยหัวเด็ก...

 

...นายจันนั้นแปลกเข้าแบกวัว

นายบัวทำคล้ายเป็นหลายคน...

 

24. สา นกเล็ก

...ถัดมานั้นอ้ายสานกเล็ก

อยู่คุ้งถลุงเหล็กผัวอีดี

สกัดตีโคต่างทางโคราช

แทงอ้ายชั้วผัวอีปาดล้มกลิ้งคี่...

 

25. มากหนวด

...อ้ายมากหนวดผัวอีขวดอยู่บางพลี

โทษตีเดิมบางเอากลางวัน...

 

26. เกิด กระดูกดำ

...อ้ายเกิดกระดูกดำผัวอีคำด่าง

โทษสะดมกรมช้างกับหมอมั่น

ปล้นละว้าป่าดงคงกระพัน

กะหำไขว้ไข่ดันเป็นทองแดง...

 

27. เฉย

...อ้ายเฉยว่าฉันเคยแต่ไม้พลอง...

 

28. มา

...อ้ายมาว่าฉันคล่องก็เพลงหลาว...

 

29. เพ็ด

...อ้ายเพ็ดว่าพร้าก็พอกับคอลาว...

 

30. สา

...อ้ายทิดสาคว้าง้าวออกลองรำ...

 

31. พรหมศร

...พรหมศรสำมะยังสั่งอาสา

เราคอยท่าตัดทัพให้ยับย่น

ถ้าได้ยินกลองน้อยแล้วถอยตน

ฆ้องกระแตรีบร้นเร่งเข้าไป...

 

...ขุนแผนเห็นหอกหักชักนางกระเบา

แทงอ่ายเถ้าพรหมศรลงนอนดิ้น...

 

32. สำมะยัง

...สั่งกันเสร็จสรรพจับอาวุธ

คาดตะกรุดโพกประเจียดมงคลใส่

พรหมศรคุมอาสาแยกขวาไป

สำมะยังคุมไพร่แยกซ้ายจร...

 

33. ธรรมเถียร

...ธรรมเถียรวิ่งถลันมาทันใด

กับพวกไพร่พรูพร้อมล้อมเข้ามา...

 

34. โดด

...นายโดดกับนายเสือเงื้อหอกง่า

ขุนแผนปาลงต้ำฉาดพลาดไถล...

 

35. เสือ

...นายโดดกับนายเสือเงื้อหอกง่า

ขุนแผนปาลงต้ำฉาดพลาดไถล...

 

จะเห็นได้ว่าวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้มีความเป็น นิยายบู๊เฮียบ (武俠) สูงมาก ไม่ใช่แค่นิยายรักใคร่ประโลมโลก ตามการตีความที่ dominate สังคมไทยมานานหลายทศวรรษ ตัวขุนแผนกับซ้องกั๋งนั้นมีประสบการณ์ชีวิตที่คล้ายคลึงกัน คือได้รับความอยุติธรรมจากอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคม จนต้องกลายเป็นคนเถื่อนและถูกตีตราว่าเป็นกบฏ แม้ว่าสุดท้ายทั้งสองคนจะยอมจำนนต่ออำนาจกษัตริย์ แต่ใจความสำคัญของวรรณกรรมทั้งสองเรื่องไม่ได้สอนให้คนภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา สิ่งที่มาก่อนความภักดีคือ “คุณธรรม” ช่วยเหลือคนยากไร้และให้ความเป็นธรรมแก่สังคม ขุนแผนอาจไม่ค่อยเด่นในจุดนี้ แต่ความอหังการ์ ไม่สนหมีสนเหมือยต่ออำนาจราชสำนักในช่วงหนึ่งของชีวิต คือแรงบันดาลใจที่ทำให้พฤติการณ์ของเขากลายเป็นตำนานที่นิยมในหมู่ชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ไม่ใช่แค่นักรักเจ้าชู้ บลา ๆ ๆ ตามความเข้าใจที่ตื้นเขิน

Comments