36 เทียนกังแห่งคุกหลวงอยุธยา
จากซ้องกั๋งถึงขุนแผน แรงบันดาลใจจาก 36 เทียนกังสู่ 36 นักโทษในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน มุมมองใหม่ในแง่นิยายบู๊เฮียบ ไม่ใช่แค่นิยายรักประโลมโลก คอวรรณกรรมจีนย่อมรู้จักเรื่อง ซ้องกั๋ง หรือ 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน กันดีอยู่แล้ว ชื่อภาษาจีนคือ สุยหู่จ้วน ( 水滸傳 ) แปลตรงตัวได้ว่า เรื่องปลายน้ำ หมายถึงการหลั่งไหลมารวมตัวกันของเหล่าผู้กล้า เหมือนสายน้ำหลั่งไหลมารวมกันที่เขาเหลียงซาน มันเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจไม่ทราบได้ ในเสภาขุนช้างขุนแผนก็มีตัวละครโจร 35 คน เป็นนักโทษอาญาถูกขังอยู่ในคุกหลวง ซึ่งต่อมากลายเป็นพรรคพวกของขุนแผนและเป็นกำลังสำคัญในศึกรบเชียงใหม่ อันนี้สายน้ำหลั่งไหลมารวมตัวกันในคุกว่างั้น ก่อนอื่นขอพูดถึงวรรณกรรมเรื่อง สุยหู่จ้วน เป็นการเกริ่นนำคร่าว ๆ เรื่องนี้มีตัวละครเอกคือ ซ้องกั๋ง หรือ ซ่งเจียง ( 宋江) ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ร่วมกับพรรคพวก 35 คน (รวมเป็น 36) ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสือ กุ่ยซินจ๋าสือ ( 癸辛雜識) ที่เขียนโดยโจวมี่ ( 周密) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน ชื่อของซ่งเจียงและพี่น้องยังปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ...